คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3683/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยได้รับบัตรส่งเสริมของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนซึ่งกำหนดเงื่อนไขไว้ในข้อ 3 ว่า วัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นที่คณะกรรมการอนุมัติให้ยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้า และภาษีการค้านั้นจะต้องใช้เฉพาะในกิจการส่วนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าและหรือภาษีการค้าเท่านั้น หากจะจำหน่ายจ่ายโอนหรือนำไปใช้ในการอื่นจะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการก่อน และในข้อ 13.4 ก็กำหนดให้จำเลยนำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหรือประกอบส่งออกไปจำหน่ายนอกราชอาณาจักรทั้งสิ้น หากจำเลยมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้รับตามบัตรส่งเสริมดังกล่าว จำเลยก็ย่อมไม่อาจถือประโยชน์ที่ได้รับตามบัตรส่งเสริมได้เมื่อจำเลยมีวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่นำเข้าคงเหลือที่ไม่ได้ใช้ผลิตผสม หรือประกอบผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกภายในระยะเวลาหนึ่งปีตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จำเลยจะได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าและภาษีการค้าตามบัตรส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว
ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่งและวรรคสองแห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 บัญญัติว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีอำนาจอนุญาตให้ผู้รับการส่งเสริมจำหน่ายเครื่องจักรที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรได้โดยการอนุญาตจะทำเป็นหนังสือหรือแก้ไขบัตรส่งเสริมโดยระบุเงื่อนไขและรายละเอียดในการอนุญาตไว้ด้วยก็ได้ และวรรคสามบัญญัติว่า ห้ามมิให้นำกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรมาใช้บังคับแก่ผู้ได้รับการส่งเสริมซึ่งได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามมาตรานี้แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยประสงค์จะจำหน่ายเครื่องจักรและได้มีหนังสืออนุญาตให้จำเลยจำหน่ายเครื่องจักรหรือมีการแก้ไขบัตรส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนทั้งคดีก็ไม่ได้ความแน่ชัดว่าจำเลยได้จำหน่ายจ่ายโอนเครื่องจักรดังกล่าว ไปแล้วหรือไม่ กรณีเช่นนี้จะถือว่าจำเลยได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขโดยการจำหน่ายเครื่องจักรแล้วหาได้ไม่โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรขาเข้าและภาษีการค้าในส่วนนี้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าระหว่างเดือนตุลาคม 2531 ถึงเดือนพฤษภาคม2533 จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าได้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยได้รับยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีการค้าสำหรับสินค้าดังกล่าวคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ต่อมาวันที่ 15 เมษายน 2532 จำเลยนำสินค้าประเภทเครื่องจักรจำนวน 1 ชุด เข้ามาในราชอาณาจักร พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้อนุมัติให้จำเลยรับเครื่องจักรดังกล่าว โดยได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีการค้าต่อมาวันที่ 12 พฤษภาคม 2533 จำเลยนำสินค้าประเภทแผ่นพลาสติก ซี.พี.เอส.ฟิล์มทำด้วยโลหะและโอ.พี.พี.ฟิล์ม รวมจำนวน567 กิโลกรัม จำนวน 15 ม้วน เข้ามาในราชอาณาจักร พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้อนุมัติให้ยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีการค้าต่อมาโจทก์ที่ 1ได้รับแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนว่า จำเลยมีวัตถุดิบคงเหลือที่ไม่ได้ใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกภายในเงื่อนไขกำหนดเวลาตามบัตรส่งเสริมดังกล่าว โดยจำเลยมิได้นำวัตถุดิบที่นำเข้ามาโดยได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าดังกล่าวไปทำการผลิตภัณฑ์และส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ และนำเอกสารหลักฐานการส่งออกดังกล่าวไปทำการอนุมัติตัดบัญชีกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนภายในกำหนดเวลา 1 ปี จำเลยจะต้องเสียภาษีอากรตามสภาพ ณ วันนำเข้า จำนวน 2 รายการ คือแผ่นพลาสติกซี.พี.เอส.ฟิล์ม ทำด้วยโลหะ จำนวน 135 กิโลกรัม และแผ่นพลาสติกโอ.พี.พี.ฟิล์มจำนวน 432 กิโลกรัม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว ต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้รับแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนว่า จำเลยมีเครื่องจักรที่บริษัทต้องชำระภาษีอากรตามสภาพของราคาและอัตรา ณ วันที่ 20 มกราคม 2537 จำนวน 3 รายการเนื่องจากจำเลยได้ขออนุญาตจำหน่ายเครื่องจักรดังกล่าวต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอันเป็นการผิดเงื่อนไขของการได้รับสิทธิและประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมการลงทุน จำเลยจึงไม่ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมการลงทุนนั้นต่อไปให้โจทก์ที่ 1 เรียกเก็บภาษีอากรขาเข้าและภาษีการค้า สำหรับวัตถุดิบคงเหลือและเครื่องจักรที่จำเลยนำเข้าดังกล่าวพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 จึงได้ประเมินราคาสินค้าและภาษีอากรตามที่จำเลยได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าแจ้งการประเมินให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรดังกล่าวแล้วแต่จำเลยเพิกเฉยและมิได้อุทธรณ์โต้แย้งการประเมิน จำเลยจึงต้องรับผิดเงินเพิ่มอากรขาเข้า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวาและเงินเพิ่มภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ กับต้องชำระภาษีส่วนท้องถิ่นเพิ่มรวมเป็นเงินภาษีที่จำเลยจะต้องชำระทั้งสิ้น 429,053บาท ขอให้จำเลยชำระเงินภาษีอากรจำนวน 429,053 บาท แก่โจทก์ และเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากเงินต้นอากรขาเข้ารวม 72,223 บาท เป็นรายเดือนนับถัดจากวันที่ 30 กันยายน 2541เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ ซึ่งศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและประโยชน์ตามที่ได้รับจากการส่งเสริมการลงทุน จำเลยย่อมได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีการค้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นไม่ปรากฏว่าได้มีคำสั่งของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้เพิกถอนสิทธิและประโยชน์ทั้งหมดหรือบางส่วนที่ได้ให้แก่จำเลย เนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนด เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยได้รับบัตรส่งเสริมของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนซึ่งกำหนดเงื่อนไขไว้ในข้อ 3 ว่าวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นที่คณะกรรมการอนุมัติให้ยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้า และภาษีการค้านั้นจะต้องใช้เฉพาะในกิจการส่วนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าและหรือภาษีการค้าเท่านั้น หากจะจำหน่ายจ่ายโอนหรือนำไปใช้ในการอื่นจะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการก่อน นอกจากนี้ในข้อ 13.4ก็ได้กำหนดให้จำเลยนำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหรือประกอบส่งออกไปจำหน่ายนอกราชอาณาจักรทั้งสิ้น ข้อความตามบัตรส่งเสริมที่จำเลยได้รับจึงระบุเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ของจำเลยไว้โดยชัดแจ้ง หากจำเลยมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้รับตามบัตรส่งเสริมดังกล่าว จำเลยก็ย่อมไม่อาจถือประโยชน์ที่ได้รับตามบัตรส่งเสริมได้ ดังนี้ เมื่อได้ความตามคำเบิกความของนางสาวอุไรเรืองอักษร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการลงทุน 8 ว. สำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน พยานโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยมีวัตถุดิบคงเหลือที่ไม่ได้ใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออกภายในเงื่อนไขกำหนดเวลาตามบัตรส่งเสริมสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจึงมีหนังสือลงวันที่ 19 กรกฎาคม2534 ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 37 แจ้งจำเลยให้เสียภาษีอากรตามสภาพณ วันนำเข้าสำหรับวัตถุดิบที่ไม่ได้ใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกภายในเงื่อนไขกำหนดเวลา ดังนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยมีวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่นำเข้าคงเหลือดังกล่าวที่ไม่ได้ใช้ผลิตผสมหรือประกอบผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกภายในระยะเวลาหนึ่งปีตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จำเลยจะได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าและภาษีการค้าตามบัตรส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวจำเลยจึงต้องรับผิดเสียภาษีอากรขาเข้าและภาษีการค้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่คงเหลือดังกล่าว โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้อง

ปัญหาว่า จำเลยจะต้องรับผิดค่าภาษีอากรเพียงใดหรือไม่ศาลภาษีอากรกลางยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยอีกซึ่งในปัญหานี้เห็นว่าโจทก์มีนางสาวอุไร เรืองอักษร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการลงทุน 8 ว.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และนายธงชัย แสงพายัพ พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตำแหน่งนิติกร 5 เป็นพยานเบิกความประกอบเอกสารคือหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ นร 1305/14948ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2534 ยืนยันว่า จำเลยทำผิดเงื่อนไขที่ทำไว้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เนื่องจากจำเลยมีวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นคงเหลือจำนวน 2 รายการ ที่ไม่ได้ใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออกไปต่างประเทศภายในเงื่อนไขระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งถือได้ว่า ได้มีการเพิกถอนสิทธิประโยชน์ของจำเลย แล้วจำเลยจะต้องรับผิดชำระภาษีอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีส่วนท้องถิ่น พร้อมเงินเพิ่ม 54,396.54 บาท ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 44 จำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นเพราะขาดนัด จึงฟังได้ว่า จำเลยมีหนี้ภาษีค้างชำระตามจำนวนที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินจริง

ปัญหาวินิจฉัยต่อไปเกี่ยวกับสินค้าประเภทเครื่องจักรนั้นโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยได้ขออนุมัติขายเครื่องจักรที่นำเข้า 9 รายการ เฉพาะที่เกี่ยวกับคดีนี้มี 3 รายการ ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 39 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอนุมัติให้จำเลยขายเครื่องจักรได้แต่จะต้องชำระภาษีอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีส่วนท้องถิ่น เห็นว่าตามมาตรา 41 วรรคหนึ่งและวรรคสองแห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 บัญญัติว่าคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีอำนาจอนุญาตให้ผู้รับการส่งเสริมจำหน่ายเครื่องจักรที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรได้โดยการอนุญาตจะทำเป็นหนังสือหรือแก้ไขบัตรส่งเสริมโดยระบุเงื่อนไขและรายละเอียดในการอนุญาตไว้ด้วยก็ได้ และวรรคสามบัญญัติว่า ห้ามมิให้นำกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรมาใช้บังคับแก่ผู้ได้รับการส่งเสริมซึ่งได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามมาตรานี้แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันว่า จำเลยประสงค์จะจำหน่ายเครื่องจักรและได้มีหนังสืออนุญาตให้จำเลยจำหน่ายเครื่องจักรหรือมีการแก้ไขบัตรส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนทั้งคดีก็ไม่ได้ความแน่ชัดว่าจำเลยได้จำหน่ายจ่ายโอนเครื่องจักรดังกล่าวไปแล้วคงมีแต่หนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีไปถึงอธิบดีกรมศุลกากรเพื่อขอให้เรียกเก็บอากรเครื่องจักรของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 22 ในเอกสารดังกล่าวมีข้อความเพียงว่าสำนักงานได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่ามีเครื่องจักรที่บริษัทฯ (จำเลย)ต้องชำระภาษีอากรตามสภาพของราคาและอัตรา ณ วันที่ 20 มกราคม2537 จำนวน 9 รายการ ตามรายละเอียดในสิ่งที่ส่งมาด้วยในหนังสือดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดกล่าวถึงหรือแสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้มีหนังสืออนุญาตให้จำเลยจำหน่ายเครื่องจักรที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรโดยระบุเงื่อนไขในการอนุญาตโดยให้จำเลยชำระอากรขาเข้าและภาษีการค้าให้แก่โจทก์ที่ 1 เนื่องจากจำเลยไม่ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมการลงทุนนั้นต่อไป ทั้งคดีก็ไม่ได้ความแน่ชัดว่าจำเลยได้จำหน่ายเครื่องจักรดังกล่าวไปแล้วหรือไม่ กรณีเช่นนี้จะถือว่าจำเลยได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขโดยการจำหน่ายเครื่องจักรแล้วหาได้ไม่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรขาเข้าและภาษีการค้าในส่วนนี้”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 54,396.54 บาท กับให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้า 20,983 บาท เป็นรายเดือนนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2541เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share