คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 368/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองขุดคูในทางภาระจำยอมทำให้รถยนต์สองแถวไม่สามารถแล่นออกมาได้ต้องจอดทิ้งไว้ในที่ของโจทก์ทำให้เสียหายและขาดรายได้ผลิตผลทางเกษตรที่โจทก์ทำได้ไม่สามารถนำออกมาขายได้ ค่าขาดรายได้ตามปกติรถยนต์สองแถวใช้วิ่งรับจ้างส่งคนโดยสารและบรรทุกผลิตผลทางการเกษตรมีรายได้เฉลี่ยวันละ 1,000 บาทแต่โจทก์ขอคิดเพียงวันละ 500บาท ดังนี้ พอเข้าใจแล้วว่า โจทก์ใช้รถยนต์คันดังกล่าวใช้ประโยชน์หารายได้ การกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ขาดรายได้ โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดรายได้จากการใช้รถ
ส่วนค่าเสียหายของรถยนต์ โจทก์มิได้อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถหรือได้รถมาอย่างไร ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์จะต้องรับผิดในความเสียหายของรถต่อเจ้าของรถ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายของรถยนต์จากจำเลย.(ที่มา-เนติ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองขุดคูในทางภาระจำยอม ทำให้โจทก์เสียหายขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 103,500บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยจำเลยทั้งสองให้การว่ามิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์และค่าเสียหายไกลกว่าเหตุศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าเดิมโจทก์และนายสุดใจ ละสา เคยฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 139/2514 และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่143/2514 ของศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองเปิดทางภาระจำยอม ในที่สุดคู่ความในคดีดังกล่าวได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยทั้งสองยอมเปิดทางในที่ดินของตนเป็นทางภาระจำยอมกว้าง 4 เมตร ต่อมาเมื่อประมาณวันที่29 พฤษภาคม 2523 จำเลยทั้งสองได้ขุดคู (ร่องน้ำ)กว้าง 1 เมตรลึก 50 เซนติเมตร ยาวประมาณ 80 เมตร ในที่ดินอันเป็นทางภาระจำยอมโจทก์ไม่สามารถใช้รถยนต์แล่นผ่านเข้าออกตามทางภาระจำยอมได้ รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1น-2825 เป็นของบริษัทสหไทยไฟแนนซ์จำกัด ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้คงมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1น-2825 และค่าขาดรายได้จากการใช้รถหรือไม่เพียงใด
โจทก์ฎีกาว่า ตามฟ้องของโจทก์ฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของหรือผู้รับผิดชอบในรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1น-2825 แล้วโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหาย ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองขุดคูในทางภาระจำยอมทำให้โจทก์ซึ่งเดิมสามารถใช้รถยนต์แล่นเข้าออกได้กลับเข้าออกไม่ได้เหมือนเดิม ทำให้รถยนต์สองแถวหมายเลขทะเบียน กทม.1น-2825 ไม่สามารถแล่นออกมาได้ต้องจอดทิ้งไว้ในที่ของโจทก์ทำให้เสียหายและขาดรายได้ และผลิตผลทางเกษตรที่โจทก์ทำได้ไม่สามารถนำออกมาขายได้ ค่าขาดรายได้ตามปกติรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน กทม.1น-2825 ใช้วิ่งรับจ้างส่งคนโดยสารและบรรทุกผลิตผลทางการเกษตร โดยมีรายได้หักค่าใช้จ่ายแล้วเฉลี่ยวันละ1,000 บาท แต่โจทก์ขอคิดเอาเพียงวันละ 500 บาท จึงพอเข้าใจได้แล้วว่า โจทก์ใช้รถยนต์คันดังกล่าวใช้ประโยชน์หารายได้การกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ขาดรายได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าขาดรายได้จากการใช้รถ ส่วนค่าเสียหายของรถยนต์นั้น โจทก์มิได้อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถหรือได้รถมาอย่างไรโจทก์อาจจะเพียงยึดถือรถไว้แทนเจ้าของรถที่แท้จริงก็ได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์จะต้องรับผิดในความเสียหายของรถต่อเจ้าของรถอย่างไร โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายของรถยนต์จากจำเลย ส่วนโจทก์ขาดรายได้จากการใช้รถยนต์จริงหรือไม่นั้น ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งแดงที่ 139/2514 ของศาลชั้นต้นว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 20 มิถุนายน 2523 ก่อนฟ้องคดีนี้ว่า จำเลยจ้างรถขุดมาขุดคูในทางภาระจำยอม โจทก์ไม่สามารถจะนำรถผ่านเข้าออกได้ทำให้รถปิดอัพคันหนึ่งซึ่งใช้บรรทุกอาหารและสินค้าต่าง ๆ ไปขายผ่านออกไม่ได้ ซึ่งโดยปกติแล้วโจทก์จะนำรถเข้าออกโดยผ่านถนนนี้เกือบทุกวัน และปรากฏจากภาพถ่ายหมาย จ.5 ซึ่งเป็นภาพรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1น-2825 จอดอยู่นายนพรัตน์ รัตนสุวรรณ ยืนยันว่าเป็นภาพถ่ายรถที่โจทก์ต้องจอดทิ้งไว้ไม่สามารถนำออกมาได้ ด้านหลังภาพก็ระบุว่าเป็นเดือนพฤศจิกายน 2523 แสดงว่าหลังจากโจทก์ฟ้องคดีแล้ว รถคันนี้ก็ยังจอดอยู่ในที่ดินของโจทก์ แม้จะปรากฏจากใบอนุญาตทะเบียนรถคันดังกล่าวว่าได้มีการเสียภาษีประจำปี ในวันที่ 22 เมษายน 2523 และวันที่ 21 เมษายน 2524 และรถคันนี้ต้องนำไปให้เจ้าพนักงานตรวจสภาพก่อนจึงจะเสียภาษีประจำปีได้ก็ตาม แต่โจทก์ก็ฟ้องว่า โจทก์ไม่สามารถนำรถยนต์คันดังกล่าวออกจากที่ดินของโจทก์ได้ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม2523 ซึ่งเป็นวันหลังจากวันเสียภาษีประจำปีในปี พ.ศ. 2523เป็นต้นมาจนถึงวันฟ้องคือวันที่ 10 ตุลาคม 2523 นายพงษ์พันธ์พุ่มแย้ม พยานโจทก์เบิกความว่า ได้ไปดูความเสียหายของรถยนต์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2523 เพื่อทำใบเสนอราคาค่าซ่อม รถยนต์คันนี้จอดทิ้งอยู่ในที่ดินของโจทก์เพราะมีคนขุดถนนเป็นเหตุให้นำรถออกมาไม่ได้ จึงมีเหตุผลควรเชื่อว่ารถยนต์คันดังกล่าวจอดอยู่ในที่ดินของโจทก์ไม่สามารถนำออกมาแล่นหารายได้เพราะการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง ส่วนค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใดนั้น นายนพรัตน์ รัตนสุวรรณผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า โจทก์นำรถยนต์คันดังกล่าวไปรับส่งคนโดยสารระหว่างสถานีรถไฟบางกอกน้อย-ตลิ่งชัน มีรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ววันละ 1,000 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียงวันละ 500 บาท ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2523 จำเลยไม่นำสืบหักล้างเรื่องค่าเสียหาย ทั้งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความรับว่ารถยนต์คันนี้โจทก์ให้บุคคลอื่นเช่าเพื่อรับส่งคนโดยสารแต่ค่าเสียหายและดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินสมควรศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้วันละ 300 บาท โจทก์ขอค่าเสียหายจนถึงวันที่จำเลยทั้งสองถมคูพิพาทแล้ว แต่ปรากฏว่ารถยนต์คันดังกล่าวได้เสียภาษีประจำปี พ.ศ. 2524 เมื่อวันที่21 เมษายน 2524 เมษายน 2524 จึงเชื่อว่าโจทก์นำรถยนต์ออกไปตรวจสภาพได้ในวันดังกล่าวแล้ว แม้จะปรากฏว่าจำเลยยังถมคู่ไม่เรียบร้อยก็ตาม จึงกำหนดค่าเสียหายให้ตั้งแต่วันที่29 กรกฎาคม 2523 ถึงวันที่ 20 เมษายน 2524เป็นเวลา 265 วัน คิดเป็นเงิน79,500 บาท ส่วนค่าเสียหายจากผลิตผลการเกษตรที่โจทก์ไม่สามารถบรรทุกเอาออกมาขายได้โจทก์ไม่ติดใจฎีกา จึงไม่วินิจฉัยให้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันชำระเงินจำนวน 79,500 บาทแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีส่วนค่าทนายความทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์.

Share