คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 368/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมจะมีขึ้นได้ ต้องเป็นศิลปกรรมที่ได้ทำขึ้นในแผนกศิลปดังนั้นรูป ‘ซุปเปอร์แมน’ ของโจทก์ซึ่งเป็นรูปคนสวมเสื้อคลุมยืนท้าวเอวจึงไม่ใช่รูปศิลปแต่เป็นเพียงเครื่องหมายการค้า สิทธิของโจทก์เป็นสิทธิในเครื่องหมายการค้า ไม่ใช่สิทธิในศิลปกรรมโจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยโดยอ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ไม่ได้

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าและผลิตสินค้าจำพวก 39 ประเภทเครื่องเขียนสิ่งตีพิมพ์และสินค้าอื่น ๆ ส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยโดยใช้เครื่องหมายการค้ารูปคนที่ประดิษฐ์ขึ้นและอักษรโรมันคำว่า SUPERMAN “ซุปเปอร์แมน” อันเป็นลักษณะเฉพาะที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้น เครื่องหมายการค้านี้โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2489 เมื่อ พ.ศ. 2503จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซุปเปอร์แมน (รูปการประดิษฐ์มีอักษร S ติดหน้าอก) อันเป็นสารสำคัญ มีรูปดาวเป็นส่วนประกอบการที่จำเลยเอาเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์รูปซุปเปอร์แมนของโจทก์ไปจดทะเบียนและใช้กับสินค้าของจำเลย โดยดัดแปลงเป็นรูปคนเป็นรูปคนซุปเปอร์แมนกำลังเหาะ และเพิ่มรูปดาวเข้าเป็นส่วนประกอบอันไม่ใช่สารสำคัญ ก็หาทำให้แตกต่างไปจากเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งได้ใช้และจดทะเบียนมาก่อนจำเลยไม่ เมื่อประชาชนผู้ใช้เห็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยก็เข้าใจได้ทันทีว่าเป็นรูปซุปเปอร์แมนอันเป็นเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นการลวงสาธารณชนทำให้หลงเข้าใจว่าเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นโดยโจทก์หรือทำให้เข้าใจว่าเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นโดยโจทก์ หรือทำให้เข้าใจไปได้ว่า โจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ทำให้โจทก์เสียหาย และละเมิดสิทธิของโจทก์ ขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลย ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของจำเลยต่อไป

จำเลยให้การว่าระหว่างที่จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้านายทะเบียนได้วินิจฉัยให้ยกคำร้องคัดค้านของโจทก์ โจทก์ได้ทราบคำวินิจฉัยของนายทะเบียนแล้วมิได้ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และมิได้นำคดีขึ้นสู่ศาลภายใน 90 วันจึงสิ้นสิทธิที่จะนำคดีมาสู่ศาล จำเลยจึงเป็นเจ้าของมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้สำหรับสินค้าจำพวก 42 ประเภทผลไม้ดอง ผักดองและเครื่องกระป๋อง โจทก์ไม่มีสิทธิห้าม รูปเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ใช่วรรณกรรมหรือศิลปกรรม หรือส่วนสำคัญแห่งวรรณกรรมหรือศิลปกรรมอันจะถือลิขสิทธิ์ได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยแตกต่างกันมาก ไม่เป็นการลวงสาธารณชนหรือทำให้ประชาชนหลงเข้าใจผิด จำเลยใช้สิทธิโดยสุจริต

ชั้นพิจารณา โจทก์แถลงว่า โจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์และมิได้นำคดีมาฟ้องศาลภายใน 90 วัน นับแต่ทราบคำวินิจฉัยจริง แต่โจทก์มิได้ฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่3) พ.ศ. 2504 หากแต่ฟ้องโดยอาศัยมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 และรูปซุปเปอร์แมนที่จำเลยเอาไปใช้ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ย่อมได้รับความคุ้มครอง จำเลยจะนำไปใช้ไม่ได้

ทั้งสองฝ่ายรับกันว่า รูปเครื่องหมายการค้าที่ต่างได้จดทะเบียนไว้นั้นของโจทก์เป็นรูปตามเอกสารหมายเลข 2 ของจำเลยเป็นรูปตามเอกสารหมายเลข 3 ท้ายคำฟ้อง โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าจำพวก 39 ส่วนของจำเลยใช้กับสินค้าจำพวก 42

จำเลยแถลงไม่รับรองว่าโจทก์จะจดทะเบียนสิทธิไว้จริงหรือไม่

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่าย แล้วพิพากษาว่าข้อหาของโจทก์มิได้อ้างเหตุตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 41 อนุมาตรา 2 และ 3 อีกทั้งกรณีไม่ต้องด้วยอนุมาตรา 1 เพราะไม่ใช่เครื่องหมายอันเดียวกัน และใช้สำหรับสินค้าชนิดเดียวกัน การกระทำของจำเลยไม่ใช่เป็นการละเมิดสิทธิในลิขสิทธิ์ของโจทก์ ให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

คงมีปัญหาข้อกฎหมายสู่ศาลฎีกาว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นลิขสิทธิ์ที่โจทก์ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า ลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมที่โจทก์จะมีขึ้นได้นั้นต้องเป็นศิลปกรรมที่ได้ทำขึ้นในแผนกศิลป เช่น รูปศิลป รูปตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ไม่ใช่รูปศิลป แต่เป็นเพียงเครื่องหมายการค้าสิทธิของโจทก์จึงเป็นสิทธิในเครื่องหมายการค้าไม่ใช่ลิขสิทธิ์ในศิลปกรรม โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยโดยอ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ไม่ได้

Share