คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3675/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 อ้างว่า ไม่ได้ค้างชำระค่าหุ้นเพราะได้ชำระค่าหุ้นไปแล้วร้อยละ 25 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจำเลยที่ 2 ไปไม่ได้ชำระคืนจึงได้ตกลงหักกลบลบหนี้กันก่อนที่โจทก์จะบังคับคดีนี้ ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1119 วรรคสองที่กำหนดไว้ว่าในการใช้เงินค่าหุ้นนั้นผู้ถือหุ้นจะหักหนี้กับบริษัทหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1121 เป็นเรื่องกรรมการบริษัทเรียกให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นตามปกติแต่กรณีของโจทก์เป็นการดำเนินการบังคับคดีอายัดเงินค่าหุ้นที่จำเลยที่ 2 ค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 เพื่อนำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้อง โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาอันเป็นวิธีบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้โดยตรง ย่อมไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 1121

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 581,051 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 เมษายน 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เฉพาะดอกเบี้ยถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 54,473 บาท
โจทก์ยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2537เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการอายัดเงินค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 และมีหนังสือแจ้งไปยังผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1คือจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยที่ 2และผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับหมายโดยชอบแล้วเพิกเฉยไม่นำเงินค่าหุ้นตามที่ถูกอายัดไปชำระให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทั้งไม่แจ้งข้อขัดข้อง จำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3ต่างเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 เนื่องจากยังคงค้างชำระเงินค่าหุ้นโดยจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายให้ชำระจนเต็มมูลค่าหุ้น ขอให้ศาลดำเนินการบังคับคดีตามสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 และนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้โจทก์
จำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ไม่เคยได้รับหนังสือจากเจ้าพนักงานบังคับคดีและมิได้เป็นลูกหนี้จำเลยที่ 1 หรือค้างชำระค่าหุ้น แต่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจำเลยที่ 2 ไปใช้ในกิจการเป็นจำนวนหลายล้านบาท และยังไม่ได้ชำระคืน นอกจากนี้จำเลยที่ 2ยังมีสิทธิไล่เบี้ยจำเลยที่ 1 เนื่องจากเคยค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัดซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ ธนาคารจึงฟ้องบังคับตามสัญญาค้ำประกันและจำเลยที่ 2 ได้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1ไปเป็นเงิน 2,247,869.49 บาท หากจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดก็ขอหักกลบลบหนี้ จำเลยที่ 1 มิได้มีคำบอกกล่าวเรียกเงินค่าหุ้นเป็นจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ส่งล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า21 วัน โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ได้ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ยื่นคำคัดค้าน
ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำคัดค้านว่า ได้ชำระหนี้ค่าหุ้นที่ค้างอยู่ให้จำเลยที่ 1 โดยการหักกลบลบหนี้ ซึ่งหลังจากหักหนี้แล้วจำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระหนี้ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3อีกจำนวนมาก เหตุที่ยังมีรายชื่อผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ค้างชำระค่าหุ้นอยู่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ยังมิได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ดำเนินการบังคับคดีตามสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในเงินค่าหุ้นที่จำเลยที่ 2และผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ค้างชำระและนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ยังคงค้างชำระค่าหุ้นแก่จำเลยที่ 1หรือไม่ จำเลยที่ 2 อ้างว่า ไม่ได้ค้างชำระค่าหุ้นเพราะได้ชำระค่าหุ้นไปแล้วร้อยละ 25 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจำเลยที่ 2 ไปไม่ได้ชำระคืน จึงได้ตกลงหักกลบลบหนี้กันก่อนที่โจทก์จะบังคับคดีนี้ เห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1119 วรรคสอง เพราะบทกฎหมายดังกล่าวนี้ได้กำหนดไว้ว่า ในการใช้เงินค่าหุ้นนั้นผู้ถือหุ้นจะหักหนี้กับบริษัทหาได้ไม่ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ค้างชำระค่าหุ้นจริง
ปัญหาข้อสองตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า โจทก์มีสิทธิดำเนินการบังคับคดีอายัดเงินค่าหุ้นที่จำเลยที่ 2 ค้างชำระหรือไม่ จำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์ไม่มีสิทธิดำเนินการบังคับคดีดังกล่าว เพราะโจทก์ไม่ได้ส่งคำบอกกล่าวเรียกเก็บเงินค่าหุ้นเป็นจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้ถือหุ้นล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 21 วัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1121 เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1121นั้น เป็นเรื่องกรรมการบริษัทเรียกให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นตามปกติแต่กรณีของโจทก์เป็นการดำเนินการบังคับคดีอายัดเงินค่าหุ้นที่จำเลยที่ 2 ค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 เพื่อนำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องโจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาอันเป็นวิธีบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้โดยตรงย่อมไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 1121
พิพากษายืน

Share