คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3675/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คธนาคารจำเลยโดยมี พ.เป็นผู้สั่งจ่ายแต่ธนาคารจำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้ง ๆ ที่บัญชีกระแสรายวันของ พ. พอที่จะจ่ายได้ ทั้งนี้เพราะนายจ้างของ พ. มีหนังสือแจ้งมายังธนาคารจำเลยขออายัดการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท เนื่องจาก พ. ได้ฉ้อโกงเงินของนายจ้างดังนี้โจทก์ฟ้องธนาคารจำเลยให้ใช้เงินตามเช็คพิพาทไม่ได้ สิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็คพิพาทเมื่อธนาคารจำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินก็ได้แต่จะฟ้องไล่เบี้ย เอาแก่บุคคลทั้งหลายที่ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทเท่านั้น บทบัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 991 นั้นถ้า จำเลยไม่ใช้เงินแก่โจทก์โดยไม่มีข้อแก้ตัวตามมาตรา 991(1) หรือ (2) หรือ (3)ธนาคารจำเลยก็จะต้องรับผิดต่อผู้เคยค้า คือ พ. ผู้สั่งจ่ายเท่านั้น เพราะเป็นคู่สัญญาของจำเลยตามสัญญาฝากเงินบัญชีกระแสรายวัน และมาตรา 991 มีวัตถุประสงค์เพื่อปลดเปลื้องความรับผิดของธนาคารที่มีต่อผู้เคยค้าเท่านั้น การที่ พ. ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับธนาคารจำเลยและมีข้อตกลงว่าการเบิกเงินจากบัญชีต้องใช้เช็คในการสั่งจ่ายเงินข้อสัญญาดังกล่าวระหว่างจำเลยกับ พ. ผู้เคยค้าไม่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374,375.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารจำเลย สำนักงานใหญ่ลงวันที่ 24 กันยายน 2528 สั่งจ่ายเงินจำนวน 500,000 บาท โดยมีนางสาวรำเพย บุณยรัตพันธุ์ ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดการใช้เงิน โจทก์ได้นำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารจำเลย สำนักงานใหญ่ ธนาคารจำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า ธนาคารต้องการติดต่อ โจทก์จึงไม่ได้รับเงินตามเช็คฉบับดังกล่าว ทั้งที่ในวันดังกล่าวเงินในบัญชีของนางสาวรำเพยบุณยรัตพันธุ์ ลูกค้าของธนาคารจำเลยมีเพียงพอที่จะต่ายเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ และจำเลยมีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินตามเช็ค ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ติดต่อทวงถามให้ธนาคารจำเลยใช้เงินตามเช็ค แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยใช้เงินตามเช็คให้โจทก์จำนวน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปี เป็นเงินดอกเบี้ย 37,500 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยยอมรับว่านางสาวรำเพย บุณยรัตพันธุ์เป็นลูกค้าของจำเลยประเภทบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของธนาคารจำเลย สำนักงานใหญ่ แต่เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2528 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินอุตสาหกรรม จำกัด ได้มีหนังสือแจ้งให้ธนาคารจำเลยอายัดเงินในบัญชีของนางสาวรำเพย บุณยรัตพันธุ์ที่มีอยู่ในธนาคารจำเลย เนื่องจากนางสาวรำเพย บุณยรัตพันธุ์ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทดังกล่าวได้ทำการฉ้อโกงทรัพย์ของบริษัทและนำเงินมาฝากไว้ที่ธนาคารจำเลยจำเลยในฐานะเป็นธนาคารกระทำการโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่ออันเป็นประเพณีการค้าของธนาคารจึงได้อายัดเงินของจำเลยไว้ และต่อมาเมื่อวันที่ 1พฤศจิกายน 2528 ศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้ส่งเงินของนางสาวรำเพยบุณยรัตพันธุ์ ที่มีอยู่ในธนาคารจำเลยไปยังศาลแพ่งในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 23107/2528 ระหว่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินอุตสาหกรรมจำกัด โจทก์ นางสาวรำเพย บุญยรัตพันธุ์ จำเลย ธนาคารจำเลยได้จัดส่งเงินจำนวน 514,171.65 บาท ไปยังศาลแพ่งแล้วตั้งแต่วันที่ 18พฤศจิกายน 2528 นางสาวรำเพย บุณยรัตพันธุ์ จึงไม่มีเงินฝากอยู่ในธนาคารจำเลยอีก โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิขอรับเงินจำนวนดังกล่าวจากศาลแพ่งธนาคารจำเลยไม่ได้รับรองและลงลายมือชื่อในเช็คฉบับดังกล่าว จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 24 กันยายน 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทหมาย จ.1 ซึ่งมีนางสาวรำเพย บุณยรัตพันธุ์ เป็นผู้สั่งจ่ายเมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระหนี้ โจทก์ได้มอบให้นายเดชบดีดิเรกวัฒนะ นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารจำเลย จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้ง ๆ ที่เงินในบัญชีกระแสรายวันของนางสาวรำเพยที่พอที่จะจ่ายได้ ทั้งนี้ เพราะบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นนางจ้างของนางสาวรำเพยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมีหนังสือแจ้งมายังจำเลยขออายัดการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทเนื่องจากนางสาวรำเพยได้ฉ้อโกงเงินของบริษัทไป ปัญหาว่าจำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเช็คพิพาทเป็นตั๋วเงินชนิดหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 898 คู่สัญญาในตั๋วเงินได้แก่เจ้าหน้าที่ในตั๋วเงินและลูกหนี้ในตั๋วเงินนั้น เจ้าหนี้ในตั๋วเงินคือผู้ทรงหมายถึง ผู้ที่ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยถูกต้องตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้กล่าวคือได้ตั๋วเงินนั้นมาโดยเป็นผู้รับเงินหรือผู้รับสลักหลังและกรณีเป็นตั๋วเงินที่ออกให้แก่ผู้ถือ ผู้ถือก็เป็นผู้ทรงตามมาตรา 904ส่วนลูกหนี้ในตั๋วเงิน ได้แก่ ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้สลักหลังผู้สอดเข้าแก้หน้า ผู้รับอาวัล ซึ่งการเข้ามาเป็นลูกหนี้ในตั๋วเงินเช่นว่านั้นย่อมกระทำได้โดยการลงลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้นเท่านั้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 900 และมาตรา 901 ดังนั้น บุคคลใดก็ตามที่ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินย่อมผูกพันให้ต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้นในฐานะเป็นลูกหนี้ ส่วนจะต้องรับผิดในฐานะอย่างใดก็สุดแล้วแต่ว่าได้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้นในฐานะใด ในทางตรงกันข้ามผู้ทรงตั๋วเงินจะให้บุคคลที่มิได้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้นย่อมไม่ได้คดีนี้จำเลยเป็นธนาคารมีหน้าที่ต้องใช้เงินตามเช็คพิพาทที่นางสาวรำเพยผู้เคยค้ากับจำเลยได้ออกเบิกเงินแก่ตนตามมาตรา 991 หน้าที่ดังกล่าวของจำเลยเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อผู้เคยค้ากับจำเลย เพราะนางสาวรำเพยผู้เคยค้ามีข้อตกลงกับจำเลยตั้งแต่แรก กล่าวคือ ได้ขอเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับจำเลยและมีข้อตกลงว่าการเบิกเงินจากบัญชีต้องใช้เช็คในการสั่งให้จำเลยจ่ายเงิน ทั้งนี้ ตามหนังสือคำขอเปิดบัญชีเดินสะพัดหมาย จ. 5 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวซึ่งเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบตามสัญญาทั่ว ๆ ไป ไม่ใช่ความรับผิดตามกฎหมายเรื่องตั๋วเงิน เมื่อจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาท จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาทนั้นดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 900 ดังกล่าวแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทฟ้องขอให้ใช้เงินตามเช็คพิพาทตามกฎหมายเรื่องตั๋วเงินก็ต้องฟ้องผู้ที่เป็นลูกหนี้ในเช็คพิพาทเท่านั้น กรณีนี้จำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาท จึงไม่ใช่ลูกหนี้ในตั๋วเงิน โจทก์ฟ้องจำเลยให้ใช้เงินตามเช็คพิพาทไม่ได้ สิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็คพิพาทเมื่อจำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินก็ได้ แต่จะฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลทั้งหลายที่ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทเท่านั้น คือ นางสาวรำเพยผู้สั่งจ่ายซึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 914ประกอบด้วยมาตรา 989 อนึ่ง ตามบทบัญญัติในมาตรา 991 นั้นถ้าธนาคารจำเลยไม่ใช้เงินให้แก่โจทก์ผู้ทรงเช็คโดยไม่มีข้อแก้ตัวตามมาตรา 991 (1) หรือ (2) หรือ (3) ธนาคารจำเลยก็จะต้องรับผิดต่อผู้เคยค้า คือนางสาวรำเพยผู้สั่งจ่ายเท่านั้นเพราะเป็นคู่สัญญาของจำเลยตามสัญญาฝากเงินบัญชีกระแสรายวันและเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 991 นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปลดเปลื้องความรับผิดของธนาคารที่มีต่อผู้เคยค้าเท่านั้น กล่าวคือเมื่อกรณีต้องด้วยข้อยกเว้นตาม (1)หรือ (2) หรือ (3) ของมาตรา 991 แล้ว ก็ให้สิทธิแก่ธนาคารตามเช็คที่จะไม่จ่ายเงินตามเช็คได้โดยไม่ต้องรับผิดต่อผู้เคยค้าหรือผู้สั่งจ่าย หรือธนาคารจะจ่ายเงินตามเช็คนั้นก็ได้ แต่จะหักเงินจากบัญชีของผู้เคยค้าได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งต้องพิจารณาดูจากมูลเหตุที่ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คเป็นราย ๆ ไป ส่วนข้อที่โจทก์แก้ฎีกาว่าสัญญาระหว่างธนาคารจำเลยกับนางสาวรำเพยผู้เคยค้าเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกนั้นเห็นว่า สัญญาดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 374 และมาตรา 375 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่อย่างใด ธนาคารจำเลยจะต้องผูกพันต่อโจทก์ผู้ทรงเช็คพิพาทซึ่งเป็นบุคคลภายนอกก็ต่อเมื่อธนาคารจำเลยได้จดข้อความรับรองลงในเช็คพิพาทตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 993โดยเฉพาะแล้ว จำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาท จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องตั๋วเงินดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์และให้ใช้เงินตามเช็คพิพาทมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.

Share