คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3671/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ตัดไม้และแผ้วถางป่าเพื่อสร้างเขื่อนโดยตกลงให้โจทก์มีสิทธิซื้อไม้ที่โจทก์ตัดฟันได้ในราคาถูกต่อมาโจทก์จำเลยสมัครใจเลิกสัญญา ดังนี้ คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเสมือนว่ามิได้มีสัญญาต่อกันเลยโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้ไม้ที่ทำไว้ก่อนเลิกสัญญา ส่วนการงานที่โจทก์ได้กระทำให้จำเลยไปแล้วเมื่อสัญญามิได้มีข้อกำหนดให้ใช้เงินตอบแทนกันเพียงใด ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามสมควรของค่าแห่งการงานนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ทำไม้และแผ้วถางป่าในบริเวณอ่างเก็บน้ำ โดยตกลงให้โจทก์มีสิทธิซื้อไม้ที่โจทก์ตัดฟันในราคาลูกบาศก์เมตรละ 20 บาท โจทก์แผ้วถางป่าและตัดฟันไม้ได้24,732 ลูกบาศก์เมตรแล้ว จำเลยบอกเลิกสัญญาโดยโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ไม้ดังกล่าวให้โจทก์โดยโจทก์ยอมชำระราคาไม้ลูกบาศก์เมตรละ 20 บาท หรือมิฉะนั้นให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 37 ล้านบาทแก่โจทก์จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ทำไม้หรือแผ้วถางป่าให้เสร็จภายในกำหนดจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ไม้ที่ตัดฟันแล้วนอกจากนี้จำเลยยังต้องจ้างผู้อื่นทำไม้และแผ้วถางป่าต่อจากที่โจทก์ทำไว้ ต้องเสียค่าจ้างเป็นเงิน 8 ล้านบาท จึงฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าเสียหาย 8 ล้านบาทแก่จำเลยโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยไม่สร้างเขื่อนแล้วจึงไม่เสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนไม้ตามฟ้องให้โจทก์โดยโจทก์ต้องเสียค่าไม้ให้จำเลย ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดจำนวนไม้ที่จำเลยต้องโอนให้โจทก์หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 28 ล้านบาทแก่โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2514โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาทำไม้และแผ้วถางป่าในบริเวณอ่างเก็บน้ำลำแซะ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ปรากฏตามสัญญาเอกสารหมาย จ.8 โดยโจทก์ต้องตัดไม้และแผ้วถางป่าในบริเวณอ่างเก็บน้ำลำแซะให้หมด แล้วโจทก์มีสิทธิได้ไม้ที่ได้ตัดฟันเป็นค่าตอบแทนและโจทก์ต้องชำระเงินค่าซื้อไม้คืนให้จำเลย ทั้งนี้ต้องมีการสำรวจแล้วจึงตัดไม้ ตีตราชักลากไม้รวมหมอนแล้วตีตราค่าภาคหลวงตามลำดับ สัญญามีกำหนดเวลา 3 ปีนับแต่วันลงนามในสัญญา โดยจำเลยเป็นผู้ดำเนินการขออนุญาตตัดไม้และแผ้วถางป่า ฝ่ายโจทก์เป็นผู้เสียเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมด ถ้าไม้ชนิดใดที่กรมป่าไม้อนุญาตให้จำเลยทำไม้ออก โจทก์จะต้องมาทำสัญญากับจำเลยตามแบบสัญญาที่แนบท้ายสัญญานี้ อีกฉบับหนึ่งต่างหากเป็นคราว ๆ ตามที่จำเลยจะได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาอีก2 ครั้ง เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2515 และ วันที่ 11 กรกฎาคม 2517ตามลำดับปรากฏตามเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 จำเลยได้รับอนุญาตให้ทำไม้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2517 ปรากฏตามเอกสารหมายจ.37 ใบอนุญาตมีระยะเวลา 1 ปี ซึ่งหากตัดไม้ไม่เสร็จภายใน 1 ปีก็ขอต่อระยะเวลาต่อไปได้อีกครั้งละ 1 ปี ส่วนใบอนุญาตให้แผ้วถางป่านั้น จำเลยได้รับอนุญาตแรกเมื่อเดือนกันยายน 2518 ปรากฏตามใบอนุญาตเอกสารหมาย ล.1 เมื่อจำเลยได้รับอนุญาตให้ทำไม้ได้แล้วต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2517 โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจ้างทำไม้ขึ้นอีกฉบับหนึ่ง ปรากฏตามสัญญา กพ. 572/2517 เอกสารหมาย จ.13โจทก์ได้เริ่มลงมือตัดไม้และแผ้วถางป่าหลังจากทำสัญญาฉบับดังกล่าวแล้วระหว่างที่โจทก์ดำเนินการตัดไม้และแผ้วถางป่านั้นปรากฏว่ามีโรงเรียนวัดและหมู่บ้านหลายหมู่บ้านตั้งอยู่ในบริเวณอ่างเก็บน้ำลำแซะบางส่วนราษฎรยังอาศัยอยู่โดยจำเลยยังไม่ได้ดำเนินการขับไล่และจ่ายเงินชดเชยให้ และในสัญญาก็ระบุไว้ด้วยว่าผู้รับจ้างจะต้องรอการทำไม้และแผ้วถางป่าไว้เป็นการชั่วคราวก่อนจนกว่าผู้ว่าจ้างจะได้จ่ายเงินค่าชดเชยเสร็จเรียบร้อยแล้วจำเลยได้ตั้งกรรมการตรวจการทำไม้และแผ้วถางป่าประจำ ณ บริเวณการทำไม้แผ้วถางป่านี้ กรรมการได้ทำรายงานผลงานของโจทก์ให้จำเลยทราบทุกเดือน ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.13 และ จ.42วันที่ 17 มกราคม 2518 จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ยอมรับว่าการที่โจทก์ไม่สามารถทำงานได้ตามสัญญาเพราะจำเลยยังไม่ได้จ่ายเงินค่าชดเชยให้ราษฎรในหมู่บ้านตามเอกสารหมาย จ.21 เดือนเมษายน2520 กองทัพภาค 2 ประกาศปิดป่าในพื้นที่หลายจังหวัดรวมทั้งพื้นที่บางส่วน ของอ่างเก็บน้ำลำแซะด้วย โดยห้ามบุคคลเข้าอยู่อาศัยและห้ามตัดฟันไม้หรือชักลากไม้ทุกชนิดตามเอกสารหมาย จ.23 ถึง จ.26โจทก์เคยแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่สามารถตัดไม้และแผ้วถางป่าให้จำเลยทราบและขอให้จำเลยหาทางผ่อนผันให้โจทก์เข้าไปทำไม้และแผ้วถางป่าปรากฏตามเอกสารหมาย จ.26 จ.27 และ จ.29 ฝ่ายจำเลยไม่ได้ดำเนินการขอผ่อนผันให้โจทก์ ครั้นเดือนพฤศจิกายน 2530 จำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์ขอบอกเลิกสัญญาอ้างว่า โจทก์ไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนดอายุสัญญา ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.20เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาดังกล่าวแล้ว โจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยแจ้งว่า ฝ่ายโจทก์ไม่ได้ผิดสัญญา ไม้ที่ตัดฟันก่อนบอกเลิกสัญญาต้องตกเป็นของโจทก์โดยโจทก์ต้องชำระเงินค่าซื้อคืนให้จำเลยตามสัญญาหากจำเลยไม่ส่งมอบไม้ที่ตัดแล้วให้โจทก์ ก็ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามราคาไม้ที่ตัดฟันตามเอกสารหมาย จ.30และ จ.72 จำเลยได้บอกปฏิเสธไม่ชดใช้ค่าเสียหายใด ๆ ให้โจทก์ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.33” ฯลฯ
“ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิที่จะได้ไม้ที่ทำก่อนเลิกสัญญาเพียงใดหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์จำเลยสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย ดังนั้นโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเสมือนดังว่ามิได้มีสัญญาต่อกันเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้ไม้ที่ทำไว้ก่อนเลิกสัญญาส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้ก็ทำได้ด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดให้ใช้เงินตอบแทนก็ให้ใช้ตามนั้น ตามสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเอกสารหมาย จ.8 มิได้กำหนดเรื่องค่าเสียหายหรือเงินตอบแทนในกรณีมีการเลิกสัญญา ดังนั้นเมื่อสัญญาดังกล่าวเป็นอันเลิกกัน การงานที่โจทก์ได้กระทำให้จำเลยไปแล้วจึงทำได้ด้วยการใช้เงินตามค่าแห่งการงานนั้นซึ่งศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามสมควร งานที่โจทก์ทำไปแล้วคือ ตัดฟัน ชักลากไม้แผ้วถางป่าและชำระค่าธรรมเนียมในการนี้ ในเรื่องตัดฟันและชักลากไม้โจทก์นำสืบว่า ได้ฟันไม้ตามใบอนุญาตฉบับที่ 64 เล่มที่ 421ลงวันที่ 1 เมษายน 2530 จำนวน 2,401 ท่อน โจทก์เสียค่าธรรมเนียมตีตราชักลากแล้ว ปรากฏตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.7 จึงเชื่อว่าโจทก์ทำไม้ดังกล่าวจริงและโจทก์ได้ตัดฟันไม้ตามใบอนุญาตฉบับที่ 26เล่มที่ 6309 ลงวันที่ 23 เมษายน 2519 จำนวน 4,913 ท่อนโจทก์เสียค่าภาคหลวงแล้วปรากฏตามใบเสร็จรับเงินท้ายคำร้องขอบรรเทาความเสียหายก่อนคำพิพากษาลงวันที่ 14 ธันวาคม 2521 ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้ง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ตัดฟันไม้จำนวน 7,304 ท่อน เมื่อคิดถัวเฉลี่ยเนื้อไม้อัตราท่อนละ 2.6ลูกบาศก์เมตร เป็นเนื้อไม้ทั้งสิ้น 18,990.4 ลูกบาศก์เมตรส่วนการแผ้วถางป่าโจทก์มิได้นำสืบว่าโจทก์แผ้วถางป่าไปเป็นเนื้อที่เท่าไร ทั้งยังได้ความว่าการแผ้วถางป่าล่าช้าเพราะจำเลยไม่จ่ายเงินชดเชยให้ราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณนั้นและต่อมากองทัพภาคที่ 2 ได้ประกาศห้ามมิให้บุคคลเข้าไปในพื้นที่นั้นข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามรายงานการทำไม้และแผ้วถางป่าในบริเวณอ่างเก็บน้ำลำมูลบนและลำแซะของคณะกรรมการตรวจการจ้างเอกสารหมาย ล.13ว่าโจทก์แผ้วถางป่าไปเพียง 2,050 ไร่ จากจำนวนเนื้อที่ทั้งหมด18,750 ไร่ โจทก์นำสืบว่าเฉพาะค่าจ้างแผ้วถางป่าไร่ละประมาณ 200 บาทจำเลยนำสืบว่าราคาไร่ละ 150-200 บาท เมื่อพิเคราะห์ถึงว่าป่าเนื้อที่ 2,050 ไร่ ที่โจทก์แผ้วถางนี้ได้มีการตัดฟันและชักลากไม้ด้วย จำเลยเองก็ให้การว่าค่าจ้างทั้งทำไม้และแผ้วถางป่าราคาไร่ละ 500 บาท จึงเห็นสมควรกำหนดค่าแห่งงานที่โจทก์ตัดฟัน ชักลากไม้และแผ้วถางป่าเนื้อที่ 2,050 ไร่ ในราคาไร่ละ500 บาท คิดเป็นเงิน 1,025,000 บาท เนื่องจากไม้ที่โจทก์ตัดฟันมีจำนวนมากถึง 7,304 ท่อน หรือ 18,990.4 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งจำเลยเองก็ยอมรับว่าโจทก์ได้เลือกตัดฟันเฉพาะต้นไม้ใหญ่และมีค่าจึงน่าเชื่อว่าโจทก์ตัดฟันและชักลากไม้ดังกล่าวส่วนมากนอกพื้นที่ที่แผ้วถางเสร็จแล้ว งานส่วนนี้ก็เป็นประโยชน์แก่จำเลยเช่นเดียวกันจึงเห็นสมควรกำหนดค่าแห่งงานตัดฟันและชักลากไม้ในส่วนนี้เป็นเงิน500,000 บาท สำหรับค่าธรรมเนียมที่โจทก์ชำระไปแล้วตามเอกสารหมายจ.5, จ.6, จ.7 และใบเสร็จท้ายคำร้องของโจทก์ลงวันที่ 14 ธันวาคม2521 รวมเป็นเงิน 61,069 บาท จึงเป็นค่าแห่งงานที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,586,069 บาท”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 1,586,069 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้ยกคำขอในส่วนอื่นของโจทก์ และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

Share