คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3662/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เดิมโจทก์ใช้วิธีคิดค่าเสื่อมราคาในอัตราลดลงจากยอดคงเหลือ ต่อมาโจทก์ได้เปลี่ยนแปลงอัตราค่าเสื่อมราคาจากเดิมโดยหักค่าเสื่อมราคาตามสภาพความเป็นจริง ถือได้ว่าโจทก์ได้เปลี่ยนแปลงอัตราค่าเสื่อมราคาแล้ว เมื่อไม่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร โจทก์จึงเปลี่ยนแปลงอัตราค่าเสื่อมราคาไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยเป็นกรม สังกัดกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2537 โจทก์ได้รับแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 จึงได้อุทธรณ์การประเมิน และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดภาษีลงเป็นเงินภาษีที่เรียกเก็บทั้งสิ้น5,001,457.41 บาท แต่โจทก์ไม่เห็นด้วย เพราะโจทก์ไม่ได้บันทึกรายจ่ายค่าเสื่อมราคาสูงเกินไปกว่าเงื่อนไขที่ประมวลรัษฎากรกำหนด ไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการทางบัญชีที่รับรองกันทั่วไป การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้หักโดยมีคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินเป็นผู้ตรวจสอบ โดยหักค่าเสื่อมราคาตามสภาพเป็นความจริง และอัตราค่าเสื่อมราคาก็หักไว้ไม่เกินอัตราค่าเสื่อมราคาที่กฎหมายยอมให้หักได้ตามมาตรา 4 ของพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ได้กำหนดไว้ ดังนั้น การหักค่าเสื่อมราคาที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยตัดไม่ให้เป็นรายจ่ายนั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีเงินได้จำนวนดังกล่าวและโจทก์มิได้มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงภาษีดังกล่าว โดยได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการมาตรวจสอบทุกครั้ง ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 ตามหนังสือที่ ต.1/1016/2/100518 ลงวันที่ 30 กันยายน 2537 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล ปี 2534 พร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,001,457.41 บาทตามหนังสือ ภ.ส.7 เลขที่ 242/2539 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2538

จำเลยให้การว่า การประเมินชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันมีว่า การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2534 โจทก์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป แต่โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราที่จะหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ซึ่งมีอัตราการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาไม่เท่ากันในแต่ละปีระหว่างอายุการใช้ทรัพย์สินโดยขึ้นกับวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไปว่าจะเปิดช่องให้เปลี่ยนแปลงอัตราได้หรือไม่ และโจทก์ใช้อัตราหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตั้งแต่ปี2529 ถึง 2534 ตามคำให้การข้อ 2 โดยไม่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย นอกจากนี้การตรวจสอบและการพิจารณาอุทธรณ์ข้อพิพาทคดีนี้เจ้าพนักงานของจำเลยได้ทำสำนวนการตรวจสอบและสำนวนการพิจารณาอุทธรณ์รายละเอียดปรากฏตามเอกสาร ล.1 (768 แผ่น) และหมาย ล.2 (378 แผ่น) ตามลำดับ

มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่า โจทก์หักรายจ่ายค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินขัดต่อเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาหรือไม่เพียงใด โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามสภาพข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในกิจการโรงแรม แต่ไม่ใช่เป็นวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป โจทก์จึงสามารถเปลี่ยนอัตราได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ตามมาตรา 3 ของพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 นั้น เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ทวิ(2) บัญญัติว่า “ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินให้หักได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา” และได้มีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 มาตรา 3 บัญญัติว่า “ในการหักกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้เลือกใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไปและอัตราที่จะหักอย่างใดแล้วให้ใช้วิธีการทางบัญชีและอัตรานั้นตลอดไป จะเปลี่ยนแปลงได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมายในกรณีที่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงได้ และให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุมัตินั้น”

มาตรา 4 บัญญัติว่า “การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินให้คำนวณหักตามระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ในกรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีใดไม่เต็มสิบสองเดือนให้เฉลี่ยหักตามส่วนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ไม่เกินอัตราร้อยละของมูลค่าต้นทุนตามประเภทของทรัพย์สินดังต่อไปนี้..” แสดงว่า การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินโดยใช้วิธีการทางบัญชีอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่รับรองทั่วไปแล้ว แม้อัตราการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจะมีอัตราไม่เท่ากันในแต่ละปีระหว่างอายุการใช้ทรัพย์สินนั้นก็มีสิทธิทำได้หรือแม้แต่ถ้าตามวิธีการทางบัญชีซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้อยู่หักต่ำกว่าอัตราที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวก็ตาม ก็ให้หักเพียงเท่าอัตราตามวิธีการทางบัญชีซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้อยู่นั้น จะเปลี่ยนแปลงได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย ดังนั้น เมื่อพนักงานของจำเลยตรวจพบว่า เดิมโจทก์เลือกใช้วิธีการบัญชีสำหรับการคิดค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินโดยใช้วิธีลดลงจากยอดคงเหลือ (Declining Balance Method) ตลอดมา แต่ระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีปี 2529 ถึง 2537 ได้เปลี่ยนแปลงอัตราการคำนวณค่าเสื่อมราคาหลายครั้ง โดยไม่ขอเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การคำนวณค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน เป็นเหตุให้ค่าเสื่อมราคาของโจทก์เปลี่ยนแปลงไปตามเอกสารหมาย ล.1 หน้า 5 ซึ่งนางมณีพรรณ กุลประสูติดิลก ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานประเมินในชั้นอุทธรณ์ภาษีอากรของโจทก์ว่าโจทก์บันทึกค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินโดยใช้วิธีลดลงจากยอดคงเหลือ (Declining BalanceMethod) จึงฟังได้ว่า เดิมโจทก์ใช้วิธีคิดค่าเสื่อมราคาในอัตราลดลงจากยอดคงเหลือ(Declining Balance Method) และต่อมาโจทก์ได้เปลี่ยนแปลงอัตราค่าเสื่อมราคาจากเดิมโดยหักค่าเสื่อมราคาตามสภาพความเป็นจริง จึงถือได้ว่าโจทก์ได้เปลี่ยนแปลงอัตราค่าเสื่อมราคาแล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของโจทก์ไม่ได้เป็นไปตามวิธีการทางบัญชีทั่วไป แต่ก็เป็นวิธีการทั่วไปในกิจการโรงแรมก็ตาม แต่โจทก์ก็เปลี่ยนแปลงอัตราค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา เมื่อโจทก์ไม่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมายแล้ว โจทก์จึงเปลี่ยนแปลงอัตราค่าสึกหรอหรือค่าเสื่อมราคาไม่ได้ การประเมินชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

Share