คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 366/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การขายฝาก มีบัญญัติไว้เป็นเอกเทศสัญญาโดยเฉพาะ แต่นิติกรรมจะซื้อจะขายฝากมิได้มีบัญญัติไว้ในที่ใดให้มีได้ สัญญาจะซื้อจะขายฝากจึงมีขึ้นไม่ได้ตามกฎหมาย
จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป แล้วโจทก์จำเลยตกลงกันว่าจำเลยจะขายฝากที่ดินและห้องแถวให้แก่โจทก์ ให้ถือเอาหนี้ตามสัญญากู้เงินนั้นเป็นเงินชำระหนี้บางส่วนตามสัญญาขายฝาก แต่ครั้นเมื่อจำเลยยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินเพื่อขายฝากให้โจทก์ และเจ้าพนักงานได้บันทึกถ้อยคำโจทก์จำเลยไว้เท่านั้น โจทก์จำเลยก็เกี่ยงงอนกันเรื่องราคา จึงมิได้ทำสัญญาขายฝากกันเป็นหนังสือและจดทะเบียน ดังนี้ เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายฝากมีขึ้นไม่ได้ตามกฎหมายแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์จำเลยดังกล่าวนั้นจะเข้าลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อจะขายฝากแล้วหรือไม่ และย่อมถือว่ายังไม่มีหนี้อันใดเกิดขึ้นใหม่อันจะเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสารสำคัญแห่งหนี้เดิม ซึ่งจะทำให้หนี้กู้ยืมเดิมต้องระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ โจทก์จึงคงมีสิทธินำสัญญากู้ยืมมาฟ้องบังคับจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป ๒ ครั้ง เกินกำหนดแล้วจำเลยยังไม่ได้ชำระให้โจทก์ ขอให้บังคับให้จำเลยใช้เงิน ๒๕,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ย ๔,๒๐๐ บาท และเสียดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี ต่อจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ได้กู้เงินไปตามฟ้องจริง แต่เมื่อไม่สามารถชำระเงินกู้ให้แก่โจทก์ จำเลยจึงได้ตกลงกับโจทก์เพื่อขอขายฝากที่ดินและห้องแถวของจำเลยให้แก่โจกท์เป็นเงิน ๙๐,๐๐๐ บาท ตกลงกันให้แปลงหนี้ตามสัญญากู้ ๒ ฉบับ ที่จำเลยยืมเงินโจทก์ไป ๒๕,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยจนถึงวันยื่นคำขอต่อสำนักงานที่ดิน เป็นเงินชำระหนี้ตามสัญญาขายฝากบางส่วน หนี้เงินกู้ตามฟ้องจึงถูกแปลงเป็นหนี้ตามสัญญาขายฝาก หนี้เงินกู้จึงระงับไปโดยการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๔๙ และเมื่อแปลงหนี้แล้วก็กลายเป็นการหักกลบลบหนี้ตามมาตรา ๓๔๑ และในที่สุดก็เกลื่อนกลืนกันไปตามมาตรา ๓๕๓ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำสัญญากู้มาฟ้องบังคับจำเลย
ชั้นพิจารณา ศาลสอบจำเลย จำเลยแถลงว่า การตกลงซื้อขายฝากที่ดินและห้องแถวระหว่างโจทก์กับจำเลยยังมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนที่ดิน เป็นแต่จำเลยได้ยื่นคำขอต่อสำนักงานดังกล่าวเพื่อขอแบ่งที่ดินขายให้แก่โจทก์ และเจ้าพนักงานได้บันทึกถ้อยคำของโจทก์จำเลยไว้เท่านั้น เหตุที่มิได้ทำสัญญาขายฝากกันก็เพราะโจทก์บิดพลิ้วไม่ยอมทำ โจทก์แถลงว่า ตกลงจะรับซื้อฝากกัน ๓๐,๐๐๐ บาท แล้วจำเลยจะขึ้นราคาเป็น ๙๐,๐๐๐ บาท โจทก์จึงไม่ตกลงและว่าเจ้าพนักงานได้บันทึกถ้อยคำไว้จริง
ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระต้นเงินกู้กับดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาว่า หนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายฝากที่ดินเกิดขึ้นแล้ว หนี้อันเกิดแต่สัญญายืมย่อมระงับสิ้นไป และนอกจากจะเป็นเรื่องแปลงหนี้ใหม่แล้ว ยังเป็นเรื่องหักกลบลบหนี้ตามมาตรา ๓๔๑ ด้วย
ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๑ หมวด ๔ ส่วนที่ ๑ บัญญัติถึงการขายฝากไว้เป็นเอกเทศสัญญาโดยเฉพาะ ส่วนนิติกรรมจะซื้อจะขายฝากมิได้มีบัญญัติไว้ในที่ใดให้มีได้ ไม่เหมือนสัญญาจะขายจะซื้อ สัญญาจะแลกเปลี่ยนและคำมั่นว่าจะให้ ฉะนั้น สัญญาจะซื้อจะขายฝากมีขึ้นไม่ได้ตามกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์จำเลยชั้นยื่นคำขอและชั้นเจ้าพนักงานที่ดินสอบสวนถ้อยคำนั้นจะเข้าลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อจะขายฝากแล้วหรือไม่ จึงเป็นอันว่ายังหาได้มีหนี้อันใดเกิดขึ้นใหม่ระหว่างโจทก์จำเลย อันจะเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้เดิม ซึ่งจะทำให้หนี้กู้ยืมเดิมต้องระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่ไม่ และที่จำเลยเถียงว่ายังเป็นเรื่องหักกลบลบหนี้ด้วยนั้นก็ฟังไม่ขึ้น เพราะแม้จะเป็นแปลงหนี้ใหม่ก็ยังเป็นคนละเรื่องกันกับการหักกลบลบหนี้ ดังนั้น โจทก์ยังคงมีสิทธินำสัญญากู้ยืมมาฟ้องบังคับจำเลยได้
พิพากษายืน

Share