คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3657/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์และได้ชำระหนี้เงินกู้รายพิพาทเป็นเช็คแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค หนี้เงินกู้จึงยังคงมีอยู่การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันนำสืบว่า จำเลยที่ 1 นำเงินสดตามเช็คไปชำระแก่โจทก์จนครบและรับเช็คคืนจากโจทก์แล้ว จึงเป็นการนำสืบการใช้เงินตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสองเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง และไม่ปรากฏว่าเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน 300,000 บาทดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยที่ 1 รับเงินไปแล้ว กับจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้หลายคราว แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 412,500 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไปจำนวน 300,000บาท และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์จริงแต่ประมาณต้นปี 2527 จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้เป็นเช็คจำนวน 4 ฉบับให้โจทก์ ซึ่งต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำเงินสดไปชำระหนี้แทนเช็คที่ชำระให้โจทก์ โจทก์จึงคืนเช็คมาให้จำเลยที่ 1 แต่ไม่คืนสัญญากู้หนี้ตามสัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องจึงระงับไปแล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำวน 300,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยที่คำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน112,500 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้เงินกู้ตามฟ้องให้แก่โจทก์เสร็จแล้ว อันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดจริงหรือไม่ เห็นว่า ถึงแม้จะรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้เคยนำเช็คตามหมาย ล.1 ถึง ล.3 ไปชำระหนี้เงินกู้รายพิพาท แต่ข้อเท็จจริงยังรับฟังต่อไปได้ว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสามฉบับหนี้เงินกู้รายนี้จึงยังคงมีอยู่ตามหนังสือสัญญากู้ การที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 นำเงินสดตามเช็คไปชำระแก่โจทก์จนครบและรับเช็คคืนจากโจทก์แล้วนั้นเป็นการนำสืบเพื่อให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงว่าหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้รายพิพาทได้ระงับแล้วโดยจำเลยที่ 1 นำเงินสดไปชำระให้แก่โจทก์จึงเป็นการนำสืบการใช้เงินตามความหมายของบทบัญญัติ มาตรา 653 วรรสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยที่ 2 ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง ทั้งไม่ปรากฏว่าเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้วจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เช็คตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 มิใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมดังที่จำเลยที่ 2ฎีกา จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1ชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share