แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์แล้ว และปรากฏว่าการชิงทรัพย์ของจำเลยมีเหตุฉกรรจ์ทำให้ต้องได้รับโทษหนักขึ้น และเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 ทั้งวรรคสองและวรรคสาม ในการระบุบทมาตราแห่งความผิดก็ระบุเฉพาะวรรคที่มีบทหนักที่สุดเพียงวรรคเดียว หาจำต้องระบุให้ครบทุกวรรคไม่ เพราะแต่ละวรรคต่างมีองค์ประกอบความผิดเช่นเดียวกับวรรคแรก แตกต่างกันเฉพาะเหตุที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้น ดังนั้น เมื่อการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 339 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทหนักกว่าวรรคสองแล้ว ก็ไม่ต้องระบุวรรคสองซึ่งเป็นอัตราโทษเบากว่าอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 339 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง และวรรคสาม ประกอบมาตรา 83 จำคุก 15 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง และวรรคสาม ประกอบมาตรา 83 และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนมาไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก แล้ว และปรากฏว่าการชิงทรัพย์ของจำเลยดังกล่าวมีเหตุฉกรรจ์ อันทำให้จำเลยต้องได้รับโทษหนักขึ้นก็ต้องพิจารณาว่าเป็นเหตุฉกรรจ์ตามวรรคใดอันมีโทษหนักที่สุดเพียงวรรคเดียว หาจำต้องระบุให้ครบทุกวรรคไม่ เพราะแต่ละวรรคมีองค์ประกอบความผิดชิงทรัพย์เช่นเดียวกันกับวรรคแรก เพียงแต่ต่างกันในเหตุฉกรรจ์เท่านั้น เมื่อปรากฏว่าการชิงทรัพย์ของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 339 วรรคสาม ซึ่งเป็นเหตุฉกรรจ์มีโทษหนักกว่าวรรคสองแล้ว ก็ไม่ต้องระบุว่าจำเลยกระทำความผิดตามวรรคสองซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าด้วย เห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 3