คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3656/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความรับผิดของผู้บังคับบัญชาในทางแพ่ง อันเนื่องมาจากการทุจริตผู้ใต้บังคับบัญชานั้น หาใช่เพราะเหตุของการเป็นผู้บังคับบัญชาไม่ความรับผิดของผู้บังคับบัญชาในทางแพ่งจะต้องเป็นไปตามหลักเรื่องละเมิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ซึ่งได้แก่การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
จำเลยที่ 5 ดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการตำรวจภูธร มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับทางด้านการเงินของกองกำกับการตำรวจภูธร เป็นผู้ตรวจสอบแบบรายงานการเดินทางไปราชการของเจ้าพนักงานตำรวจ ลงนามเป็นผู้เบิกเงินในบัญชีหน้างบใบสำคัญและลงนามเป็นผู้มอบฉันทะตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ร่วมกันปลอมเอกสารดังกล่าวขึ้นโดยไม่ปรากฏว่ามีระเบียบให้จำเลยที่ 5 ต้องตรวจสอบก่อนว่ามีหนังสือหรือคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปปฏิบัติราชการหรือไม่ ทั้งไม่มีระเบียบว่าก่อนลงอนุมัติจะต้องปฏิบัติอย่างไร การเบิกเงินแต่ละครั้งมิได้มีเฉพาะรายที่ถูกปลอมลายมือชื่อเท่านั้น หากแต่มีผู้เบิกคราวละ 20 – 30 ราย ลายมือชื่อผู้กำกับการตำรวจภูธรที่สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปราชการที่แท้จริงและที่ถูกปลอมก็คล้ายคลึงกัน ก่อนลงนามจำเลยที่ 5 ได้ตรวจว่ามีลายมือชื่อผู้ช่วยสมุห์บัญชีและสมุห์บัญชีลงนามรับรองความถูกต้องแล้ว ทั้งได้ตรวจว่ามีลายมือชื่อกำกับการตำรวจภูธรมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปปฏิบัติราชการแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 5 ได้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิได้ประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ มีตำแหน่งสมุห์บัญชี กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมามีหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน โดยเฉพาะตรวจสอบใบสำคัญ ทำการเบิกและจ่ายเงินค่าใช้สอย จำเลยที่ ๒ ปฏิบัติหน้าที่ช่วยราชการแผนกสารบรรณ จำเลยที่ ๕ ดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับทางด้านการเงินของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้ร่วมกันปลอมเอกสารแบบรายงานการเดินทางไปราชการของจ่าสิบตำรวจสุรพงษ์ ตรีชา กับพวกว่าได้ไปราชการสืบสวนจับกุมคนร้ายตามคำสั่งของผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา เบิกเงินค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พักรวม ๓๓๔,๔๑๐ บาท โดยปลอมลายมือชื่อบุคคลดังกล่าวว่าเป็นผู้เบิก และปลอมลายมือชื่อผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมาว่า อนุมัติให้จ่ายเงินได้แล้ววางฎีกาเบิกเงินมาแบ่งกัน โดยจำเลยที่ ๕ มิได้ควบคุมตรวจตราการปฏิบัติงานของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้เป็นไปด้วยดีไม่ตรวจสอบหลักฐานว่าบุคคลผู้ถูกปลอมลายมือชื่อว่าเป็นผู้ที่ได้รับคำสั่งให้ไปราชการสืบสวนจับกุมคนร้ายจริงหรือไม่ หากได้ตรวจสอบด้วยความระมัดระวังแล้วก็จะทราบได้ว่าเป็นเรื่องเท็จ ทั้งยังได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกเงินในบัญชีหน้างบใบสำคัญเป็นเงิน ๒๑๙,๒๗๐ บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยที่ ๕ ชดใช้เงินจำนวน ๒๑๙,๒๗๐ บาทแก่โจทก์
จำเลยที่ ๕ ให้การว่า จำเลยที่ ๕ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของข้าราชการตำรวจแล้ว การที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันปลอมเอกสาร มิใช่อยู่ในวิสัยที่จะตรวจสอบได้โดยง่าย จำเลยที่ ๕ มิได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๕ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นเงิน ๒๑๙,๒๗๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๕ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๕
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความรับผิดของผู้บังคับบัญชาในทางแพ่งอันเนื่องมาจากการทุจริตของผู้ใต้บังคับบัญชานั้น หาใช่เพราะเหตุของการเป็นผู้บังคับบัญชาไม่ ความรับผิดของผู้บังคับบัญชาในทางแพ่งจะต้องเป็นไปตามหลักเรื่องละเมิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ ซึ่งได้แก่การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ปรากฏว่า จำเลยที่ ๕ มิได้ร่วมกระทำการทุจริตกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ปัญหาวินิจฉัยจึงอยู่ที่ว่าจำเลยที่ ๕ ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ ซึ่งในข้อนี้โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่า จำเลยที่ ๕ มิได้ทำการตรวจสอบหลักฐานว่าบุคคลผู้ถูกปลอมลายมือชื่อว่าเป็นผู้ไปราชการสืบสวนจับกุมคนร้ายนั้นเป็นผู้ที่ได้รับคำสั่งให้ไปราชการสืบสวนจับกุมคนร้ายจริงหรือไม่ เห็นว่าไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์ว่า ก่อนจะลงนามเป็นผู้อนุมัติในบัญชีหน้างบใบสำคัญ และลงนามเป็นผู้มอบฉันทะนั้น มีระเบียบให้ผู้ลงนามจะต้องตรวจสอบก่อนว่ามีหนังสือคำสั่งหรือคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปปฏิบัติราชการสืบสวนหาตัวคนร้ายหรือไม่ แม้กระทั่งวิธีปฏิบัติก่อนลงนามอนุมัติ ผู้ลงนามจะต้องปฏิบัติอย่างไรก็ไม่ปรากฏ บัญชีหน้างบใบสำคัญและแบบรายงานการเดินทางไปราชการ ที่เกิดปัญหาในคดีนี้ปรากฏว่า การเบิกเงินแต่ละครั้งมิใช่มีเบิกเฉพาะรายที่ถูกปลอมลายมือชื่อเท่านั้น แต่ละครั้งที่เบิกมีรายชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ขอเบิกค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พักคราวละ ๒๐ – ๓๐ ราย จำเลยที่ ๕ เบิกความว่า ก่อนจะลงนามเป็นผู้อนุมัติและเป็นผู้มอบฉันทะนั้น นอกจากจะตรวจดูว่า จำนวนเงินตรงกันหรือไม่แล้ว ยังตรวจดูว่ามีลายมือชื่อจำเลยที่ ๗ ผู้ช่วยสมุห์บัญชีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องในเบื้องต้นหรือไม่ และมีลายมือชื่อจำเลยที่ ๑ สมุห์บัญชีเป็นผู้ลงนามรับรองการตรวจสอบถูกต้องหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้นจำเลยที่ ๕ ยังได้ตรวจดูว่ามีลายมือชื่อจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปปฏิบัติราชการลงนามเป็นผู้อนุมัติในแบบรายงานการเดินทางหรือไม่อีกด้วย เพราะถ้ามีลายมือชื่อจำเลยที่ ๓ ก็แสดงว่า จำเลยที่ ๓ มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปปฏิบัติราชการจริง ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๕ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังแล้ว นอกจากนั้นเมื่อได้เปรียบเทียบดูลายมือของจำเลยที่ ๓ ที่แท้จริงและที่ถูกปลอมแล้วก็เป็นการยากที่จะรู้ว่าปลอมหรือไม่ เพราะแม้แต่จำเลยที่ ๓ เอง ก็ลงชื่อเป็นผู้อนุมัติในบัญชีหน้างบใบสำคัญตามฎีกาที่ ๙๒๑/๒๕๒๑ ทั้ง ๆ ที่ลายมือชื่อของตนเองในแบบรายงานการเดินทางไปราชการซึ่งแนบมาพร้อมกันเป็นลายมือปลอมนอกจากนั้นพันตำรวจเอกสุคมน์ สร้างสืบวงศ์ ประธานกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งก็เบิกความว่า ผลการสอบสวนทราบว่า จำเลยที่ ๕ ก่อนจะลงชื่อเกี่ยวกับเอกสารในคดีนี้ ก็ได้ตรวจสอบเอกสารทั้งหมดโดยถูกต้องแล้ว จึงเห็นว่าจำเลยที่ ๕ ได้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิได้ประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ ๕ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่๑ ที่ ๒
พิพากษายืน

Share