แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาเช่าฉบับพิพาทมีข้อความระบุว่า ผู้ให้เช่าเป็นเจ้าของใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามมาตรา 3(1) แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 ตกลงให้เช่าและผู้เช่าตกลงกันเช่าสถานที่บริการและใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการของผู้ให้เช่ามีกำหนดเวลา 3 ปี โดยผู้เช่าตกลงชำระค่าเช่าสถานที่และใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการในปีแรกเดือนละ 45,000 บาท และในปีต่อ ๆ ไปในอัตราค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท ตลอดไป ในวันทำสัญญานี้ผู้เช่าตกลงชำระค่าเช่าล่วงหน้าแก่ผู้ให้เช่าไว้ และผู้ให้เช่าคิดเงินพิเศษค่าเช่าดำเนินกิจการเป็นเงินจำนวน1,000,000 บาท โดยผู้ให้เช่าตกลงยกอุปกรณ์ในการประกอบกิจการที่มีอยู่ในสถานที่เช่าทั้งหมดแก่ผู้เช่า และตกลงให้ใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการของผู้ให้เช่าเป็นสาระสำคัญยิ่งของสัญญาเช่านี้ และผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องดำเนินการขอต่ออายุใบอนุญาตต่อทางราชการให้ใบอนุญาตมีผลใช้ได้ตาม กฎหมายอยู่เสมอตลอดระยะเวลาเช่าในสัญญาและคำมั่นจะให้เช่าจนครบ 10 ปีด้วย และผู้ให้เช่าต้องไม่นำใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการนี้ไปดำเนินกิจการเอง หรือยินยอมอนุญาตให้ผู้อื่นดำเนินกิจการนี้ด้วยวิธีการใด ๆ อีกเป็นอันขาดถ้าสถานบริการถูกรื้อถอนหรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการในสถานที่ดังกล่าวได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใดเป็นเหตุให้ผู้เช่าต้องย้ายสถานที่บริการจากสถานที่ไปอยู่อีกแห่งหนึ่ง ผู้ให้เช่าจะต้องดำเนินการยื่นคำร้องขอย้ายสถานบริการจากสถานที่เช่า ไปอยู่ยังสถานที่แห่งอื่นที่ผู้เช่าประสงค์โดยปราศจากข้อโต้แย้งทั้งสิ้น โดยผู้ให้เช่าตกลงคิดค่าเช่าในการให้ผู้เช่าใช้ใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการในสถานที่แห่งใหม่เพียงอย่างเดียวในอัตราค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท ไปจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาเช่านี้ และคำมั่นจะให้เช่าจนครบ 10 ปี และให้ยกเลิกอัตราค่าเช่าไปโดยปริยายหากสถานที่เช่าและใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการของผู้ให้เช่าตกทอดไปถึงทายาทหรือบุคคลอื่นในระหว่างอายุสัญญา เช่านี้หรือตามคำมั่นจะให้เช่าจนครบ 10 ปี สัญญาเช่านี้คงมีผลผูกพันไปถึงทายาทหรือบุคคลอื่นโดยผู้ให้เช่าต้องแจ้งให้ทายาทหรือบุคคลอื่นทราบถึงสัญญา เห็นได้ว่าคู่กรณีมิได้มีเจตนาที่จะให้โจทก์เข้าไปดำเนินกิจการแทนในฐานะผู้จัดการเท่านั้นแต่มีลักษณะเป็นการโอนสิทธิการได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการให้แก่กัน โดยมีการตกลงซื้อขายอุปกรณ์ในการประกอบกิจการให้แก่กันและคู่กรณีมีเจตนาโดยชัดแจ้งที่จะให้โจทก์ดำเนินกิจการตามใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการโดยทำเป็นสัญญาเช่าการที่โจทก์ชำระค่าเช่าล่วงหน้าก็ดี ชำระค่าอุปกรณ์ที่ใช้ ในการประกอบกิจการสถานบริการตลอดจนค่าตกแต่งสถานบริการก็ดี ก็เพื่อประโยชน์ในการประกอบ กิจการสถานบริการของโจทก์เท่านั้น กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าตามฎีกาของโจทก์แต่อย่างใดไม่ สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลย เมื่อเป็นการหลีกเลี่ยงและฝ่าฝืนต่อ พระราชบัญญัติสถานบริการพ.ศ. 2509 จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 เดิม(มาตรา 150 ที่ตรวจชำระใหม่) โจทก์จึงไม่มีสิทธิอ้างข้อสัญญาเพื่อเรียกค่าเสียหายจากจำเลย กรณีจำเลยปฏิบัติผิดสัญญา ส่วนเงินค่าตอบแทนการได้เข้าดำเนินกิจการและการยกอุปกรณ์ และทรัพย์สินในการประกอบกิจการให้แก่กัน และได้มี โอนส่งมอบสถานที่ อุปกรณ์ และทรัพย์สินให้แก่กันไปแล้ว จึงเป็นเงินที่โจทก์ได้ชำระไปเพื่อให้การดำเนินกิจการ ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายบรรลุผล โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้อง คืนจากจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411 สำหรับเงินลงทุนของโจทก์ เมื่อไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาบำรุงหรือซ่อมแซมทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 416 จำเลยผู้เป็นเจ้าของทรัพย์จึงไม่ต้องรับผิดใช้คืนแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการชื่อ”วิคตอรี่ไนท์คลับ” ให้โจทก์เช่าดำเนินการ โดยจำเลยต้องดำเนินการขอต่อใบอนุญาตต่อทางราชการ หลังจากทำสัญญาแล้วโจทก์เข้าดำเนินกิจการในสถานบริการดังกล่าวและซ่อมแซมปรับปรุงอาคารและชำระค่าเช่าตลอดมา เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2536เจ้าพนักงานแจ้งให้โจทก์ปิดสถานบริการอ้างว่าจำเลยไม่ได้ขอต่อใบอนุญาต โจทก์จึงไม่อาจดำเนินการสถานบริการได้อีกต่อไปขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,958,545 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินเดือนละ50,000 บาท นับแต่วันที่โจทก์ไม่ได้เข้าไปดำเนินการสถานบริการไปจนกว่าจะครบ 10 ปีตามสัญญา
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาเพราะจำเลยยื่นคำร้องขอต่ออายุใบอนุญาตแล้ว แต่เจ้าพนักงานไม่ดำเนินการให้ตามกำหนด ฉะนั้นจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หากจะมีค่าเสียหายก็เพียงไม่เกิน 100,000 บาทสำหรับค่าใช้จ่ายในการปรับปรุง ต่อเติมอาคารอันเป็นสถานประกอบการ ส่วนความเสียหายจากการขาดรายได้ที่มิได้ประกอบการสถานบริการก็มีเพียงไม่เกินเดือนละ 10,000 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยมิใช่เป็นการโอนสิทธิการได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการแต่คู่กรณีมีเจตนาที่จะให้โจทก์เข้าไปดำเนินกิจการแทนในฐานะเป็นผู้จัดการสถานบริการแทนจำเลย ซึ่งกฎหมายไม่ได้ห้ามมิให้บุคคลอื่นเช่าไปดำเนินการแทนนั้น เห็นว่า ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความระบุว่า “ข้อ 1 ผู้ให้เช่าเป็นเจ้าของใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามมาตรา 3(1) แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 เล่มที่ 1 เลขที่ 6/2534 โดยใช้ชื่อว่า”วิคตอรี่ไนท์คลับ” ข้อ 2 ผู้ให้เช่าตกลงให้เช่าและผู้เช่าตกลงกันเช่าสถานที่บริการและใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการของผู้ให้เช่าตามข้อ 1 มีกำหนดเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2535โดยผู้เช่าตกลงชำระค่าเช่าสถานที่และใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการในปีแรกเดือนละ 45,000 บาท และในปีต่อ ๆ ไปในอัตราค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท ตลอดไป ข้อ 3 ในวันทำสัญญานี้ผู้เช่าตกลงชำระค่าเช่าล่วงหน้าแก่ผู้ให้เช่าไว้เป็นเวลา 3 เดือนเป็นจำนวนเงิน 112,500 บาท และผู้ให้เช่าคิดเงินพิเศษค่าเช่าดำเนินการตามข้อ 1 เป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาทโดยผู้ให้เช่าตกลงยกอุปกรณ์ในการประกอบกิจการที่มีอยู่ในสถานที่ตามข้อ 1 ทั้งหมด แก่ผู้เช่ารวม 35 รายการข้อ 4 ใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการของผู้ให้เช่าเป็นสาระสำคัญยิ่งของสัญญาเช่านี้ ดังนั้น ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องดำเนินการขอต่ออายุใบอนุญาตต่อทางราชการให้ใบอนุญาตมีผลใช้ได้ตามกฎหมายอยู่เสมอตลอดระยะเวลาเช่า ในสัญญาและคำมั่นจะให้เช่าจนครบ 10 ปีด้วย และผู้ให้เช่าต้องไม่นำใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการนี้ไปดำเนินกิจการเอง หรือยินยอมอนุญาตให้ผู้อื่นดำเนินกิจการนี้ด้วยวิธีการใด ๆ อีกเป็นอันขาด ข้อ 6 ถ้าสถานบริการตามข้อ 1ถูกรื้อถอนหรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการในสถานที่ดังกล่าวได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม เป็นเหตุให้ผู้เช่าต้องย้ายสถานที่บริการจากสถานที่ตามข้อ 1 ไปอยู่อีกแห่งหนึ่ง ผู้ให้เช่าจะต้องดำเนินการยื่นคำร้องขอย้ายสถานบริการจากสถานที่ตามข้อ 1 ไปอยู่ยังสถานที่แห่งอื่นที่ผู้เช่าประสงค์โดยปราศจากข้อโต้แย้งทั้งสิ้น โดยผู้ให้เช่าตกลงคิดค่าเช่าในการให้ผู้เช่าใช้ใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการในสถานที่แห่งใหม่เพียงอย่างเดียวในอัตราค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท ไปจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาเช่านี้ และคำมั่นจะให้เช่าจนครบ 10 ปีและให้ยกเลิกอัตราค่าเช่าในข้อ 2 ไปโดยปริยาย ข้อ 12 กรณีสถานที่เช่าและใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการของผู้ให้เช่าตกทอดไปถึงทายาทหรือบุคคลอื่นในระหว่างอายุสัญญาเช่านี้หรือตามคำมั่นจะให้เช่าจนครบ 10 ปี สัญญาเช่านี้คงมีผลผูกพันไปถึงทายาทหรือบุคคลอื่นโดยผู้ให้เช่าต้องแจ้งให้ทายาทหรือบุคคลอื่นทราบถึงสัญญาเช่นนี้” จากข้อสัญญาดังกล่าว คู่กรณีมิได้มีเจตนาที่จะให้โจทก์เข้าไปดำเนินกิจการแทนในฐานะผู้จัดการเท่านั้นแต่มีลักษณะเป็นการโอนสิทธิการได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการให้แก่กันมีการตกลงซื้อขายอุปกรณ์ในการประกอบกิจการให้แก่กันเมื่ออาคารที่เช่าถูกรื้อถอนหรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถใช้สถานที่เช่าได้อีกต่อไป คู่กรณีก็มีเจตนาที่จะดำเนินกิจการตามใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการอีกต่อไปโดยผู้ให้เช่าต้องไปดำเนินการขอย้ายสถานที่ไปยังที่อื่นและจะคิดค่าเช่าสถานที่อีกไม่ได้คิดได้เฉพาะใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการเท่านั้น อีกทั้งผู้ให้เช่าจะต้องแจ้งทายาทและบุคคลอื่นทราบความผูกพันของคู่กรณีเพื่อป้องกันการรบกวนสิทธิที่โจทก์จะพึงมีใบกิจการตามใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการดังกล่าว คู่กรณีมีเจตนาโดยชัดแจ้งที่จะให้โจทก์ดำเนินกิจการตามใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการโดยทำเป็นสัญญาเช่า การที่โจทก์ชำระค่าเช่าล่วงหน้าก็ดีชำระค่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบกิจการสถานบริการตลอดจนค่าตกแต่งสถานบริการก็ดี ก็เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการสถานบริการของโจทก์เท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าไม่ และเมื่อสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการหลีกเลี่ยงและฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติสถานบริการพ.ศ. 2509 จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113 เดิม (มาตรา 150 ที่ตรวจชำระใหม่) โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิอ้างข้อสัญญาเพื่อเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยได้อีก
ส่วนเงินค่าตอบแทนการได้เข้าดำเนินกิจการ และการยกอุปกรณ์และทรัพย์สินในการประกอบกิจการให้แก่กัน และได้มีโอนส่งมอบสถานที่ อุปกรณ์และทรัพย์สินให้แก่กันไปแล้ว ตามสัญญาข้อ 3เป็นเงินที่ได้ชำระไปเพื่อให้การดำเนินกิจการที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายบรรลุผล โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องคืนจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411 สำหรับเงินจำนวน 958,545 บาท โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าเป็นเงินลงทุนของโจทก์จึงไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาบำรุงหรือซ่อมแซมทรัพย์สินที่จำเลยจะต้องใช้คืนแก่โจทก์ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 416
พิพากษายืน