คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 365/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รายงานชันสูตรบาดแผลนั้นไม่มีกฎหมายบังคับว่า ต้องให้เจ้าพนักงานเป็นผู้ทำ โจทก์จึงต้องนำสืบให้ศาลเห็นว่าผู้ทำเป็นเจ้าพนักงาน ต่างกับการชันสูตรพลิกศพ ป.วิ.อ. มาตรา 150 ได้บัญญัติไว้ ซึ่งเมื่อนายแพทย์ได้ทำการชันสูตรพลิกศพด้วย ศาลย่อมรับรู้ว่านายแพทย์เป็นเจ้าพนักงาน

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำผิดกฎหมายต่างกรรมต่างวาระกัน โดยหมิ่นประมาทใส่ความและหมิ่นประมาทเจ้าพนักงาน ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา ม.๓๒๖, ๑๓๖
่จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์จำเลยยื่นคำให้การเพิ่มเติม โดยขอถอนคำให้การเดิมบางข้อ รับสารภาพว่า ได้กล่าววาจาหมิ่นประมาท โจทก์ตามฟ้อง และจำเลยกับผู้เสียหายได้ประนีประนมกัน ผู้เสียหายไม่ติดใจว่ากล่าวเอาความต่อไป ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม. ๓๒๖ เป็นอันระงับแล้วโจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยาน ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๖ หรือไม่
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวมีความหมายไปในทางใส่ความตามประมวลกฎหมายอาญา ม.๓๒๖ ไม่มีข้อความหรือคำกล่าวใดที่เป็นการดูหมิ่น ตาม มาตรา ๑๓๖ และฟ้องโจทก์มิได้กล่าวให้ชัดว่าถ้อยคำใดเป็นการดูหมิ่น
พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้ามีบทกฎหมายบัญญัติไว้เช่นการชันสูตรพลิกศพตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๐ และนายแพทย์ได้ทำการชันสูตรพลิกศพด้วย ศาลย่อมรับรู้ว่านายแพทย์เป็นเจ้าพนักงาน ถ้าไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้ แต่นายแพทย์มีหน้าที่โดยเหตุอื่น โจทก์ก็ต้องนำสืบให้ศาลเห็น สำหรับรายงานชันสูตรบาดแผลนั้นไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องให้เจ้าพนักงานเป็นผู้ทำ ผู้อื่นที่เป็นแพทย์มิใช่เจ้าพนักงานก็ทำได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับฟังว่านายแพทย์ประสงค์เป็นเจ้าพนักงานและพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว
จึงพิพากษายืน ให้ยกฎีกาของโจทก์

Share