แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นนายหน้าติดต่อขายที่ดินให้จำเลยที่ 1 สัญญาจะซื้อขายระหว่างบริษัท น. กับจำเลยที่ 1 ได้ทำกันสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์ชี้ช่องจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จแก่โจทก์ตามสัญญา การที่ไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์กันระหว่างบริษัท น. กับจำเลยที่ 1 ก็เนื่องจากบริษัท น. และจำเลยที่ 1 ตกลงเลิกสัญญากัน ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นความรับผิดใช้ค่าบำเหน็จนายหน้าแก่โจทก์
ข้อความในสัญญาจะซื้อขายที่ระบุไว้ความว่า จำเลยที่ 1 จะจ่ายค่านายหน้าในวันที่โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่ซื้อขายกันนั้น ไม่ใช่เงื่อนไขเพราะเงื่อนไขต้องเป็นเหตุการณ์ที่จะมีขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอน ถ้าผู้ซื้อและจำเลยที่ 1 ไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาเป็นอย่างอื่น หรือไม่เลิกสัญญากันก็ต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่ซื้อขายกันตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาอย่างแน่นอน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ เป็นพนักงานบริหารของจำเลยที่ ๑ จำเลยได้ติดต่อขอให้โจทก์จัดการขายที่ดินของจำเลยที่ ๑ โดยให้คำมั่นว่าจะจ่ายบำเหน็จค่านายหน้า โจทก์เสนอขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่บริษัทอุตสาหกรรมรังสิตจำกัด ในราคา ๗๓ ล้านบาท และบริษัทนิคมอุตสาหกรรมรังสิต จำกัดทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับจำเลยที่ ๑ ตามการชี้ช่องของโจทก์ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทนิคมอุตสาหกรรมรังสิต จำกัด โจทก์เป็นกรรมการบริษัท จำเลยที่ ๑ ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายไม่ใช่เนื่องจากการชี้ช่องของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ไม่เคยตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้า บริษัทนิคมอุตสาหกรรมรังสิต จำกัด ตกลงเลิกสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยที่ ๑ และขอลดเงินมัดจำที่จะต้องถูกริบ ๑๑ ล้านบาท โดยยอมให้ริบเพียง ๓ ล้านบาท การโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาไม่เกิดขึ้น สัญญาข้อ ๕ ระบุไว้ว่าจำเลยที่ ๑ จะจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าในวันที่โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่ซื้อขาย การเจรจาขอซื้อที่ดินตลอดจนตกลงเลิกสัญญา และการขอลดการริบเงินมัดจำ โจทก์เป็นผู้ติดต่อแทนบริษัทนิคมอุตสาหกรรมรังสิต จำกัด ทั้งสิ้น การที่จำเลยที่ ๑ ตกงจะจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าก็เพื่อให้บริษัทในครอบครัวของโจทก์จ่ายเงินค่าซื้อที่ดินน้อยลง การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกับจำเลยที่ ๑ กับให้การว่า หากจำเลยที่ ๑ ตกลงให้ค่านายหน้า สัญญานายหน้าก็ไม่ผูกพันจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ซึ่งเป็นเพียงเจ้าหน้าที่หรือผู้แทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงินค่านายหน้าแก่โจทก์ ๑,๘๒๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย คดีสำหรับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทนิคมอุตสาหกรรมรังสิต จำกัด โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องให้บริษัทนิคมอุตสาหกรรมรังสิต จำกัด เข้าทำสัญญาจะซื้อขาย และค่าบำเหน็จนายหน้าคิดเป็นเงิน ๑,๘๒๕,๐๐๐ บาทตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.๖ โจทก์ทราบข้อความในสัญญาและลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญา ต่อมามีการแก้ไขเอกสารหมาย จ.๖ โดยเพิ่มเงินมัดจำเป็น ๘ ล้านบาท และยืดเวลาการชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ ครั้นถึงกำหนดผู้ซื้อได้ชำระเงินทั้งหมดให้จำเลยที่ ๑ คงชำระเพียง ๖ ล้านบาท ต่อมาผู้ซื้อและจำเลยที่ ๑ ได้ตกลงเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวต่อกันตามเอกสารหมาย ล.๖ แล้ววินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า
ประเด็นข้อแรกที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาความว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่านายหน้าตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.๖ ข้อ ๕ ประกอบด้วยข้อ ๔ นั้น สัญญาดังกล่าวข้อ ๔ วรรคแรกระบุว่า “เมื่อผู้ซื้อได้ชำระราคาให้แก่ผู้ขายครบถ้วนแล้ว ผู้ขายจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อหรือบุคคลอื่นใดที่ผู้ซื้อจะระบุชื่อ” และข้อ ๕ ระบุว่า “การซื้อขายที่ดินรายนี้มีนายหน้า ผู้ขายตกลงจะจ่ายค่านายหน้าร้อยละ ๒.๕ ของราคาที่ขายดังระบุไว้ในข้อ ๑ โดยจะจ่ายให้นายหน้าในวันที่โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่ซื้อขายนี้” ในเรื่องค่านายหน้านี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๘๔๕ วรรคแรก บัญญัติว่า บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องได้ให้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันเสร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว” ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาเอกสารหมาย จ.๖ ได้ทำกันสำเร็จแล้วเนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์ได้ชี้ช่อง จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นนายหน้าตามสัญญา การที่ไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันระหว่างผู้ซื้อกับจำเลยที่ ๑ ก็เนื่องจากผู้ซื้อและจำเลยที่ ๑ ตกลงเลิกสัญญากัน ไม่ทำให้จำเลยที่ ๑ หลุดพ้นความรับผิดใช้ค่าบำเหน็จนายหน้าให้แก่โจทก์ ทั้งข้อตกลงในการเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย ล.๖ นอกจากที่ระบุไว้ชัดแจ้งว่าเป็นข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องถึงโจทก์แล้ว ยังไม่ได้กล่าวถึงค่าบำเหน็จนายหน้าด้วย ส่วนข้อความในสัญญาเอกสารหมาย จ.๖ ข้อ ๕ ที่ระบุไว้ความว่าจำเลยที่ ๑ จะจ่ายค่านายหน้าในวันที่โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่ซื้อขายกันนั้นไม่ใช่เงื่อนไข เพราะเงื่อนไขต้องเป็นเหตุการณ์ที่จะมีขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอน แต่การโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่ซื้อขายตามสัญญาเอกสารหมาย จ.๖ แม้เป็นเหตุการณ์ที่จะมีขึ้นในอนาคต แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่แน่นอน ถ้าผู้ซื้อและจำเลยที่ ๑ ไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาเป็นอย่างอื่น หรือไม่เลิกสัญญากัน ก็ต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่ซื้อขายกันตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาอย่างแน่นอน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จนายหน้า
ประเด็นข้อต่อไปที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของผู้ซื้อ เป็นตัวแทนผู้ซื้อมาติดต่อขอซื้อที่ดิน ตลอดจนขอเลิกสัญญา และโจทก์เป็นพยานในสัญญาพิพาท (เอกสารหมาย จ.๖) การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตและดำเนินคดีโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่าบริษัทนิคมอุตสาหกรรมรังสิต จำกัด ผู้ซื้อ เมื่อได้จดทะเบียนแล้ว ย่อมเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนสิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลกับสิทธิและหน้าที่ของผู้เป็นหุ้นส่วนจึงต้องแยกพิจารณาต่างหากจากกัน การที่โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องให้ผู้ซื้อเข้าทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ ๑ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เป็นไปตามสัญญานายหน้าส่วนนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับจำเลยที่ ๑ เป็นไปตามสัญญาจะซื้อขายเพราะเป็นคนละสัญญาและมิใช่เป็นคู่สัญญารายเดียวกัน ทั้งโจทก์ก็ทำสัญญานายหน้ากับจำเลยที่ ๑ ในฐานะส่วนตัวของโจทก์เอง มิได้เกี่ยวข้องกับบริษัทนิคมอุตสาหกรรมรังสิตจำกัด แต่อย่างใดไม่ ฉะนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่านายหน้าจากจำเลยที่ ๑ เป็นคดีนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตหรือดำเนินคดีโดยไม่สุจริต ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน