แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ ป. บิดาโจทก์จะมีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ที่พิพาทอันสันนิษฐานไว้ก่อนว่าป. ผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ก็ตามแต่ทางนำสืบของโจทก์เป็นเรื่องเลื่อนลอยไม่น่าเชื่อ ส่วนพยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยซื้อมาแล้วให้ ป. เป็นผู้มีชื่อในเอกสารสิทธิดังกล่าวด้วยเหตุผลทางศาสนาอิสลามการที่จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกโดยอ้างว่า ที่พิพาทเป็นมรดกของ ป. เป็นเพียงต้องการให้ที่พิพาทซึ่งเป็นของจำเลยกลับโอนมาเป็นของจำเลยตามที่มีผู้แนะนำให้ดำเนินการเท่านั้น ไม่อาจฟังว่าที่พิพาทเป็นมรดกของ ป. ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์ของ ป.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นบุตรที่บิดารับรองแล้วของนายประเสริฐ เทอดไทย ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2518 จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายประเสริฐตามคำสั่งศาล ได้นำที่ดินมรดก ไปขายให้บุคคลอื่นได้เงิน รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 6,645,642.50 บาท แต่จำเลยไม่นำเงินดังกล่าวมาแบ่งปันให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาท โจทก์ทั้งสี่ได้ทวงถาม แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ทั้งสี่เรียกร้องเพียงคนละ 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 4,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยคืนหรือชำระเงินจำนวน 4,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่
จำเลยให้การว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นที่ดินของจำเลย มิใช่ของนายประเสริฐ โดยจำเลยซื้อมาแต่ใส่ชื่อ นายประเสริฐแทนเนื่องจากเหตุผลทางศาสนาอิสลามที่หญิงมีสามีไม่มีบุตรจะได้ส่วนแบ่งสินสมรสเพียงร้อยละสิบเท่านั้นขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นบุตรที่บิดารับรองแล้วของนายประเสริฐ เทอดไทย ผู้ซึ่งถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2518 จำเลยเป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายประเสริฐ และได้รับแต่งตั้ง ให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายประเสริฐตามคำสั่งศาลจังหวัดนครราชสีมาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2518 ขณะนั้นโจทก์ทั้งสี่ยังเป็นผู้เยาว์ ต่อมาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2536 โจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านขอถอนจำเลย จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายประเสริฐศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำสั่งถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกและได้ตั้งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายประเสริฐเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2536 ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามฟ้องเดิมมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) และมีชื่อนายประเสริฐเป็นผู้มีสิทธิครอบครองแปลงแรกเนื้อที่ประมาณ 78 ไร่ 50 ตารางวา แปลงที่สองเนื้อที่ประมาณ 70 ไร่ 2 งาน 10 ตารางวา จำเลยได้นำที่ดินแปลงแรกไปออกโฉนดและแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยและนำที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวไปขายให้แก่บุคคลอื่น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามฟ้องเป็นทรัพย์มรดกของนายประเสริฐหรือไม่เห็นว่า แม้นายประเสริฐบิดาโจทก์ทั้งสี่จะมีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามฟ้อง อันสันนิษฐานไว้ก่อนว่านายประเสริฐผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ก็ตาม แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ทั้งสี่ ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่านายประเสริฐได้ที่ดินดังกล่าวมาอย่างไร ส่วนทางนำสืบของจำเลยมีเหตุผลให้เชื่อว่าที่พิพาททั้งสองแปลงจำเลยเป็นผู้ซื้อมาแล้วให้นายประเสริฐช่วยทำไร่ข้าวโพดและต่อมาเมื่อทางราชการให้ไปแจ้งออกเอกสารสิทธิ จำเลยจึงให้นายประเสริฐน้องชายเป็นผู้มีชื่อในเอกสารสิทธิ ดังกล่าวด้วยเหตุผลทางศาสนาอิสลาม การที่จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกโดยอ้างว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นมรดกของนายประเสริฐเป็นเพียงเพื่อต้องการให้ที่ดินดังกล่าวซึ่งเป็นของจำเลยกลับโอนมาเป็นของจำเลยภายหลังตามที่มีผู้แนะนำให้ดำเนินการเท่านั้น ไม่อาจฟังว่าที่ดินดังกล่าวเป็นมรดกของนายประเสริฐตามคำร้องขอพยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักน่าเชื่อถือดีกว่าพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสี่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามฟ้องเพียงใส่ชื่อนายประเสริฐแทนจำเลย มิใช่ทรัพย์มรดกของนายประเสริฐ
พิพากษายืน