คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3643/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218 เป็นเหตุฉกรรจ์ของมาตรา 217 โดยให้ผู้กระทำความผิดต่อทรัพย์ที่ระบุไว้ใน มาตรา 218(1) ถึง (6) ต้องได้รับโทษหนักขึ้น แต่การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม มาตรา 217 จะต้องเป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น เมื่อบ้านที่ถูกเพลิงไม้เป็นบ้านที่จำเลยเป็นเจ้าของร่วมกับ ร. สามีจำเลยซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสกัน แม้จะฟังว่าจำเลยเป็นผู้วางเพลิง จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม มาตรา 218 เพราะเมื่อมาตรา 217 บัญญัติว่าการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นเป็นความผิด จะตีความคำว่า “ทรัพย์ของผู้อื่น” ให้รวมถึงทรัพย์ที่ผู้อื่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยหาได้ไม่เป็นการขัดต่อหลักกฎหมายใน มาตรา 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยวางเพลิงเผาบ้านของนายรุ่ง อันเป็นโรงเรือนที่คนอยู่อาศัย เป็นเหตุไฟไหม้บ้านและทรัพย์สินที่เก็บไว้ในบ้านทั้งหมด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๘
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ฎีกาได้แต่เฉพาะข้อกฎหมาย ซึ่งจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ว่า นายรุ่ง ผู้เสียหายกับจำเลยเป็นสามีภริยากัน แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสบ้านเลขที่ ๑๕/๑ ที่ถูกเพลิงไหม้ตามฟ้องเป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยกับผู้เสียหายและบุตรอีก ๒ คนจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของบ้านดังกล่าวร่วมกับผู้เสียหายด้วย ศาลฎีกาเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา ๒๑๘ แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นเหตุฉกรรจ์ของมาตรา ๒๑๗ โดยบัญญัติให้ผู้กระทำผิดต่อทรัพย์ที่ระบุไว้ใน มาตรา ๒๑๘(๑) ถึง (๖) ต้องได้รับโทษหนักขึ้น ฉะนั้น การกระทำอันใดที่ไม่เป็นผิดตาม มาตรา ๒๑๗ แล้ว แม้จะกระทำต่อทรัพย์ที่ระบุในมาตรา ๒๑๘ ก็ดี ผู้กระทำก็ไม่มีความผิดเช่นเดียวกัน การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา ๒๑๗ จะต้องเป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบ้านที่ถูกเพลิงไหม้เป็นบ้านที่จำเลยเป็นเจ้าของร่วมกับนายรุ่งผู้เสียหาย แม้จะฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นผู้วางเพลิง จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม มาตรา ๒๑๘ เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒บัญญัติว่าบุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ดังนั้น เมื่อ มาตรา ๒๑๗ บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นเป็นความผิด ไม่มีข้อความว่า “หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย” ก็เป็นความผิดแล้วจะตีความคำว่า “ทรัพย์ของผู้อื่น” ให้รวมถึงทรัพย์ที่ผู้อื่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยย่อมไม่ได้ เพราะการตีความบทกฎหมายที่มีโทษทางอาญา จะต้องตีความโดยเคร่งครัดจะขยายความออกไปถึงกรณีที่ไม่ได้ระบุไว้ในตัวบทโดยชัดแจ้ง เพื่อให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยหรือผู้ต้องหาไม่ได้ เพราะเป็นการขัดต่อหลักกฎหมายว่าด้วยความผิดของบุคคลในทางอาญาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒ ดังกล่าวแล้ว
พิพากษายืน

Share