คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3637/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาและมีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 นั้น เมื่อศาลชั้นต้นมิได้ใช้กระบวนการพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยตามปกติ แต่ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดี ในกรณีที่ศาลเห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดียังไม่สมควรมีคำพิพากษา หรือบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งจำเลยอาศัยอยู่ด้วยร้องขอให้ใช้ ศาลอาจมีคำสั่งให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวแล้วมอบตัวจำเลยให้บุคคลดังกล่าวไป โดยกำหนดเงื่อนไขในการแก้ไขบำบัดฟื้นฟู ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 132 วรรคหนึ่ง หรือส่งตัวจำเลยไปยังสถานพินิจ หรือสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและตามที่ศาลเห็นสมควร หรือจะใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนไปพลางก่อนตามมาตรา 132 วรรคสอง เมื่อจำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดแล้ว ให้ศาลสั่งยุติคดีโดยไม่ต้องมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลย ตามมาตรา 133 วรรคหนึ่ง เว้นแต่คำสั่งเกี่ยวกับของกลาง และให้ถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ ย่อมหมายความเฉพาะ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเท่านั้นที่เป็นอันระงับไป สิทธิของผู้เสียหายที่จะได้ทรัพย์สินคืน หรือใช้ราคาทรัพย์สินซึ่งเป็นสิทธิในคดีส่วนแพ่งที่พนักงานอัยการอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ใช้สิทธิเรียกร้องและดำเนินคดีแทนผู้เสียหายย่อมยังคงมีอยู่ เพราะเจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตราดังกล่าวเพื่อช่วยให้ผู้เสียหายได้รับทรัพย์สินคืนหรือได้รับการชดใช้ราคาทรัพย์สินที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง จึงให้อำนาจพนักงานอัยการใช้สิทธิเรียกร้องและดำเนินคดีแทนผู้เสียหายต่อเนื่องไปในคดีอาญา เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาเสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน ดังนั้น สิทธิในคดีส่วนแพ่งของผู้เสียหายจึงไม่ระงับสิ้นไป การนำบทบัญญัติมาตรา 133 วรรคหนึ่ง มาตีความว่า เมื่อศาลสั่งยุติคดีมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับไป มีผลทำให้คำขอในคดีส่วนแพ่งของพนักงานอัยการที่ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายตกไปด้วยนั้น เป็นการนำบทบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิซึ่งต้องตีความโดยเคร่งครัดมาตีความตัดสิทธิของผู้เสียหายที่จะได้รับการเยียวยาชดใช้ความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย การตีความเช่นนั้นย่อมเกิดความเดือดร้อน และเสียหายแก่ผู้เสียหายที่ต้องไปเริ่มต้นดำเนินคดีส่วนแพ่งเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนด้วยตนเอง และต้องเสียค่าธรรมเนียมในการดำเนินคดีอันเป็นภาระยิ่งขึ้นให้แก่ผู้เสียหาย ทั้งที่พนักงานอัยการได้ใช้สิทธิเรียกร้องแทนผู้เสียหายและดำเนินคดีมาตั้งแต่ต้นจนคดีเสร็จการพิจารณาแล้ว ดังนั้น แม้ในคดีอาญาศาลสั่งยุติคดี ศาลก็ต้องมีคำวินิจฉัยตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ซึ่งเป็นคำขอในคดีส่วนแพ่งด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83, 91, 334, 335, 339, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคารถจักรยานยนต์ กระเป๋าสะพายคาดเอว เงินสด รวมเป็นเงิน 87,100 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย และนับโทษหรือระยะเวลาควบคุมตัวเพื่อฝึกอบรมของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษหรือระยะเวลาควบคุมตัวเพื่อฝึกอบรมของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 26/2560 และ 74/2560 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยุติคดีตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 133 และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาและมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 นั้น เมื่อศาลมีคำสั่งยุติคดีตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 133 วรรคหนึ่ง แล้ว ศาลต้องมีคำวินิจฉัยตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่พนักงานอัยการมีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้แก่ผู้เสียหายดังกล่าวเป็นคำขอในคดีส่วนแพ่งโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ซึ่งบัญญัติว่า “คดีลักทรัพย์ วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกหรือรับของโจร ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์เพื่อช่วยให้ผู้เสียหายได้รับทรัพย์สินคืนหรือได้รับการชดใช้ราคาทรัพย์สินที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยได้โดยสะดวกรวดเร็วและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง จึงให้อำนาจพนักงานอัยการใช้สิทธิเรียกร้องและดำเนินคดีแทนผู้เสียหายต่อเนื่องไปในคดีอาญาได้เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาเสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกันซึ่งในกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามปกติ เมื่อคดีเสร็จการพิจารณาแล้ว ศาลย่อมมีคำพิพากษาทั้งในส่วนคดีอาญาและส่วนคดีแพ่งไปในคำพิพากษาเดียวกันตรงตามเจตนารมณ์ดังกล่าว สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้นมิได้ใช้กระบวนการพิจารณาพิพากษาตามปกติแก่จำเลยโดยศาลชั้นต้นมิได้มีคำพิพากษาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลย แต่ได้ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดีตามมาตรา 132 แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นมาตรการพิเศษที่ศาลใช้แก่จำเลยในกรณีที่ศาลเห็นว่าตามพฤติการณ์แห่งคดียังไม่สมควรจะมีคำพิพากษา หรือบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลซึ่งจำเลยอาศัยอยู่ด้วยร้องขอให้ใช้โดยศาลอาจมีคำสั่งให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวแล้วมอบตัวจำเลยให้บุคคลดังกล่าวไป โดยกำหนดเงื่อนไขในการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูต่าง ๆ ตามมาตรา 132 วรรคหนึ่ง หรือส่งตัวจำเลยไปยังสถานพินิจหรือสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและตามที่ศาลเห็นสมควร หรือจะใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนไปพลางก่อนตามมาตรา 132 วรรคสอง หากต่อมาจำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดแล้ว ศาลต้องมีคำสั่งยุติคดีโดยไม่ต้องมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยตามมาตรา 133 วรรคหนึ่ง ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อจำเลยที่ไม่ต้องมีคำพิพากษาคดีอาญาติดตัวไปเป็นตราบาปเมื่อกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม ที่มาตรา 133 วรรคหนึ่ง บัญญัติผลของคำสั่งยุติคดีไว้ว่า “เมื่อจำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดตามมาตรา 132 แล้ว ให้ศาลสั่งยุติคดีโดยไม่ต้องมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลย เว้นแต่คำสั่งเกี่ยวกับของกลาง และให้ถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ” นั้น ย่อมหมายความว่า ให้ถือว่าเฉพาะสิทธินำคดีอาญามาฟ้องเท่านั้นที่เป็นอันระงับไป หาได้มีผลให้สิทธิในการได้ทรัพย์สินคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินซึ่งเป็นสิทธิในคดีส่วนแพ่งของผู้เสียหายระงับสิ้นไปด้วยไม่ เมื่อสิทธิในคดีส่วนแพ่งของผู้เสียหายไม่ระงับสิ้นไป สิทธิในคดีส่วนแพ่งของพนักงานอัยการซึ่งอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติมาตรา 43 ใช้สิทธิเรียกร้องและดำเนินคดีแทนผู้เสียหายในส่วนแพ่งย่อมยังคงมีอยู่เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรา 43 ดังกล่าวข้างต้น การนำบทบัญญัติมาตรา 133 วรรคหนึ่ง มาตีความว่า เมื่อคำสั่งยุติคดีมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับไปมีผลทำให้คำขอในคดีส่วนแพ่งของพนักงานอัยการที่ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายตกไปด้วยนั้น เป็นการนำบทบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิซึ่งต้องตีความโดยเคร่งครัดมาตีความตัดสิทธิของผู้เสียหายที่จะได้รับการเยียวยาชดใช้ความเสียหายที่ได้รับจากการกระทำความผิดของจำเลยได้โดยสะดวกรวดเร็วและไม่เสียค่าใช้จ่ายตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งการตีความเช่นนั้นย่อมก่อให้เกิดความเดือดร้อนและเสียหายแก่ผู้เสียหายที่ต้องไปเริ่มต้นดำเนินคดีส่วนแพ่งเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนอื่นด้วยตนเอง และต้องเสียค่าธรรมเนียมในการดำเนินคดีอันเป็นภาระยิ่งขึ้นให้แก่ผู้เสียหายทั้ง ๆ ที่ในคดีนี้พนักงานอัยการได้ใช้สิทธิเรียกร้องแทนผู้เสียหายและดำเนินคดีมาตั้งแต่ต้นจนคดีเสร็จการพิจารณาแล้ว จึงเห็นว่า แม้ในคดีอาญา ศาลจะมีคำสั่งยุติคดีตามมาตรา 133 วรรคหนึ่ง แล้ว ศาลก็ต้องมีคำวินิจฉัยตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ซึ่งเป็นคำขอในคดีส่วนแพ่งด้วย ที่ศาลชั้นต้นไม่วินิจฉัยและมีคำสั่งคำขอในส่วนนี้และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่มีคำสั่งตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาจึงไม่จำต้องวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งและมีคำสั่งตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไปเลยโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการ โดยเห็นว่าพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการวินิจฉัยคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาไว้เป็นการเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาบังคับใช้โดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ซึ่งในกรณีที่ศาลไม่ได้มีคำพิพากษาในคดีส่วนอาญานั้น บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่นำมาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้คือ มาตรา 47 ซึ่งบัญญัติว่า “คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่” กล่าวคือ ศาลต้องวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งไปตามพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งคดีนี้พนักงานอัยการนำสืบพยานโดยมีนายภานุวัฒน์ ผู้เสียหาย เบิกความยืนยันว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยกับพวกร่วมกันชิงทรัพย์รถจักรยานยนต์ กระเป๋าสะพายคาดเอว เงินสด 1,000 บาท และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ของผู้เสียหายไป ต่อมาผู้เสียหายได้รับแต่โทรศัพท์เคลื่อนที่คืนเท่านั้น เห็นว่า ผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานรู้เห็นเหตุการณ์มาด้วยตนเอง คำเบิกความของผู้เสียหายจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง โดยจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยร่วมกับพวกเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เสียหาย จำเลยจึงต้องคืนหรือใช้ราคารถจักรยานยนต์ กระเป๋าสะพายคาดเอว และเงินสดรวม 3 รายการ เป็นเงิน 87,100 บาท ที่ผู้เสียหายยังไม่ได้รับคืนแก่ผู้เสียหาย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคารถจักรยานยนต์ กระเป๋าสะพายคาดเอว และเงินสดรวม 3 รายการ เป็นเงิน 87,100 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

Share