คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3635/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ที่ดินพิพาททับที่สาธารณประโยชน์คูขวางทั้งแปลง แม้โจทก์และจำเลยคดีนี้จะเป็นคนละคนกับโจทก์จำเลยในคดีก่อน แต่โจทก์คดีนี้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากโจทก์ในคดีก่อน โจทก์คดีนี้จึงเป็นผู้สืบสิทธิจากโจทก์ในคดีก่อน ส่วนจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนและจำเลยคดีนี้ต่างมีหน้าที่ดูแลสาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเช่นเดียวกัน ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกับโจทก์และจำเลยที่ 1 ในคดีก่อน ทั้งโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนว่าที่ดินพิพาททับที่สาธารณประโยชน์คูขวางหรือไม่ ซึ่งได้ถึงที่สุดไปแล้ว ดังนี้โจทก์และจำเลยคดีนี้ต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อนด้วย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 และ 148 การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องเป็นว่า ที่ดินโฉนดพิพาทคงเหลือเนื้อที่ 12 5/10 ตารางวา ให้จำเลยแก้ไขแล้วส่งมอบใบแทนโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์นั้น เมื่อโจทก์ต้องผูกพันตามคำพิพากษาฎีกาในคดีก่อน ก็ต้องถือว่าที่ดินพิพาทตามฟ้องของโจทก์เป็นที่สาธารณประโยชน์คูขวางทั้งแปลง ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยแก้ไขโฉนดที่ดินพิพาทจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้และปัญหาที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท และให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนหรือแก้ไขที่ดินโฉนดพิพาทบางส่วน คงเหลือเนื้อที่ ๑๒ ๕/๑๐ ตารางวา แล้วส่งมอบใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เดิมที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๑๘๓ นายเส๊ะ ไพรพฤกษ์ เจ้าของที่ดินคนเดิมเคยมีคดีพิพาทโดยนายเส๊ะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชกับพวกเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น ซึ่งข้อพิพาทดังกล่าวเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชอ้างว่าที่ดินพิพาททับที่สาธารณประโยชน์คูขวาง และคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ที่ดินพิพาททั้งแปลงทับที่สาธารณประโยชน์คูขวาง ต่อมาโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายเส๊ะแล้วนำมาขอออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าพนักงานที่ดินได้รังวัดที่ดินพิพาทออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๘๔๒๒๘ เนื้อที่ ๓ งาน ๖๙ ๗/๑๐ ตารางวา มอบให้โจทก์ ต่อมาเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชมีหนังสือให้จำเลยสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงพิพาทเนื่องจากออกทับที่สาธารณประโยชน์คูขวาง จำเลยจึงมีคำสั่งให้เพิกถอน มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ในคดีก่อน นายเส๊ะเจ้าของเดิมในที่ดินพิพาทเป็นโจทก์ฟ้องเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชกับพวกเป็นจำเลยโดยมีประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินแปลงพิพาทนี้ทับที่สาธารณประโยชน์คูขวางหรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่าที่ดินพิพาททั้งแปลงทับที่สาธารณประโยชน์คูขวาง ส่วนคดีนี้แม้โจทก์และจำเลยจะเป็นคนละคนกับโจทก์และจำเลยในคดีก่อนก็ตาม แต่โจทก์ได้รับโอนที่ดินพิพาทมาจากโจทก์ในคดีก่อน โจทก์คดีนี้จึงเป็นผู้สืบสิทธิมาจากโจทก์ในคดีก่อน ส่วนจำเลยที่ ๑ ในคดีก่อนและจำเลยคดีนี้ต่างมีหน้าที่ดูแลสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเช่นเดียวกัน ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกันกับโจทก์และจำเลยที่ ๑ คดีก่อน เมื่อโจทก์คดีนี้ฟ้องจำเลยขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงพิพาท ซึ่งเป็นการฟ้องโดยอาศัยประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนในประเด็นที่ว่าที่ดินแปลงพิพาททับที่สาธารณประโยชน์คูขวางหรือไม่ และในคดีก่อนได้ถึงที่สุดไปแล้ว ดังนี้โจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีนี้ต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อนด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๕ อันต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๘ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องเป็นว่าที่ดินโฉนดพิพาทคงเหลือเนื้อที่ ๑๒ ๕/๑๐ ตารางวา ให้จำเลยแก้ไขแล้วส่งมอบใบแทนโฉนดที่ดินคืนให้แก่โจทก์นั้น ได้ความว่าในคดีก่อนศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาททั้งแปลงทับที่สาธารณประโยชน์คูขวาง คดีนี้โจทก์ได้นำที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๑๘๓ ซึ่งเป็นแปลงเดียวกันกับที่ดินพิพาทในคดีก่อนมาขอออกโฉนด จึงเป็นที่ดินแปลงเดียวกันทั้งคดีก่อนและคดีนี้ เมื่อโจทก์และจำเลยคดีนี้ต้องผูกพันตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อน ก็ต้องถือว่าที่ดินพิพาทตามฟ้องของโจทก์เป็นที่สาธารณประโยชน์คูขวางทั้งแปลง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยแก้ไขโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าวบางส่วนจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้และปัญหาข้อที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบด้วยมาตรา ๒๔๖ และ ๒๔๗ และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีกต่อไป
พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share