แหล่งที่มา : ADMIN
ย่อสั้น
การที่นายจ้างลงโทษลูกจ้างให้พักงาน3วันและขณะเดียวกันในคำสั่งลงโทษนั้นยังมีคำเตือนอีกด้วยหาทำให้คำเตือนนั้นสิ้นผลไปด้วยโทษที่ได้รับไปแล้วไม่(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่1916/2527) ส.ลูกจ้างของโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับด้วยการนอนหลับและได้รับคำเตือนเป็นหนังสือมาแล้วส.กลับมากระทำผิดฐานเดียวกันซ้ำอีกในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับโจทก์จึงเลิกจ้างส.ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518มาตรา123(3)หาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมไม่ โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งวินิจฉัยชี้ขาดตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518ศาลชอบที่จะปรับด้วยพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา123อันเป็นบทมาตราโดยเฉพาะสำหรับกรณีที่นี้หาใช่ปรับด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ47(3)ไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายสุนทรซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าโจทก์เลิกจ้างนายสุนทรในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับขอให้จำเลยสั่งให้โจทก์รับนายสุนทรกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหาย จำเลยได้วินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่งว่าการที่โจทก์เลิกจ้างนายสุนทรเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้โจทก์รับนายสุนทรกลับเข้าทำงานกับให้จ่ายค่าเสียหาย คำสั่งของจำเลยไม่ชอบเพราะนายสุนทรได้กระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยนอนหลับ โจทก์ได้ลงโทษโดยสั่งพักงานและประกาศเตือนไม่ให้ทำผิดอีกต่อมานายสุนทรนอนหลับเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนอีก โจทก์จึงเลิกจ้างได้ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย จำเลยให้การว่า วันเกิดเหตุนายสุนทรไม่ได้นอนหลับ และไม่ใช่เป็นเวลาอยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ การลงโทษนายสุนทรไม่มีการสอบสวน เป็นการเลิกจ้างในขณะที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างยังมีผลใช้บังคับอยู่ คำสั่งเลิกจ้างของโจทก์จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม คำสั่งของจำเลยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า นายสุนทรกระทำผิดซ้ำคำเตือนโจทก์เลิกจ้างได้ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย จำเลยทั้งสิบสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่นายจ้างลงโทษลูกจ้างให้พักงาน3 วัน และขณะเดียวกันในคำสั่งลงโทษนั้นยังมีคำเตือนอีกด้วย หาทำให้คำเตือนนั้นสิ้นผลไปด้วยโทษที่รับไปแล้วไม่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1916/2527) พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 หาได้บัญญัติห้ามว่า ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้าง หรือสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเป็นการเด็ดขาดเสียทีเดียวไม่ ดังจะเห็นมีข้อยกเว้นให้เลิกจ้างอยู่ 5 ประการในอนุมาตรา (1) ถึงอนุมาตรา (5) นายสุนทร ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับฯ ของโจทก์ด้วยการนอนหลับมาแล้ว และได้รับคำตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว นายสุนทรกลับมากระทำผิดฐานเดียวกันซ้ำอีก กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 123(3) การเลิกจ้างของโจทก์หาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมไม่ ประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ เป็นตัวบทกฎหมายที่กำหนดการคุ้มครองแรงงานแก่ลูกจ้าง โดยเฉพาะข้อ 47 เป็นบทที่ว่าด้วยเมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้างแล้วจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ ส่วนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518เป็นบทกฎฆมายที่กำหนดความสัมพันธ์ รวมทั้งวิธีการแก้ไขข้อขัดข้องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้เป็นไปโดยวิธีปรองดองและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งวินิจฉัยชี้ขาดตามอำนาจหน้าที่ในพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลชอบที่จะปรับด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 อันเป็นบทมาตราโดยเฉพาะสำหรับกรณีนี้ มิใช่ปรับด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ พิพากษายืน