คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3630/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างรับเหมาก่อสร้างจากบริษัทอ.ที่บริษัทอ.มีต่อกรมชลประทานโดยความยินยอมของกรมชลประทานโดยชอบแล้ว บริษัทอ. จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องต่อกรมชลประทานอีกต่อไป กรมสรรพากร จำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ภาษีอากรของบริษัทอ.ย่อมจะขออายัดเงินที่กรมชลประทานจะต้องชำระให้แก่โจทก์ไม่ได้ แม้อายัดไปคำสั่งอายัดก็ย่อมไม่มีผลบังคับต่อกรมชลประทาน การที่คลังจังหวัดพะเยาโดยความยินยอมของกรมชลประทานได้ส่งเงินค่าจ้างซึ่งกรมชลประทานจะต้องชำระแก่โจทก์ไปให้จำเลยที่ 1ตามที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งอายัดไว้ ก็เป็นกรณีที่กรมชลประทานจะต้องรับผิดต่อการกระทำของตนเองกรณีดังกล่าวมิได้ทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้จากกรมชลประทานตามที่โจทก์ได้รับโอนมาจากบริษัทอ.เสื่อมเสียไปไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรมในรัฐบาล มีหน้าที่จัดเก็บภาษีตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2528 บริษัทอมรชัยนาท (1980)จำกัด ลูกค้าโจทก์ ประมูลงานรับเหมาก่อสร้างระบบส่งน้ำและอาคารประกอบในเขตโครงการระบบส่งน้ำแม่ปิม อำเภอแม่โจ จังหวัดพะเยาตามสัญญาที่ กจ.34/2528 และโจทก์ได้ให้สินเชื่อแก่บริษัทดังกล่าวเพื่อดำเนินการตามโครงการเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 27 กุมภาพันธ์2529 บริษัทอมรชัยนาท (1980) จำกัด ได้ทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิการรับเงินตามสัญญาที่ กจ.34/2528 ทั้งหมดเป็นเงิน 17,550,050 บาทที่มีสิทธิได้รับจากกรมชลประทานให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้อง และกรมชลประทานได้ให้ความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นหนังสือแล้ว หลังจากนั้นโจทก์ก็ได้รับเงินตามสัญญาตามงวดงานตลอดมาจนกระทั่งบริษัทดังกล่าวได้ก่อสร้างงานแล้วเสร็จตามโครงการ กรมชลประทานได้ตรวจรับมอบงานครบถ้วนแล้ว โจทก์ติดต่อขอรับเงินงวดสุดท้ายเป็นเงิน 2,086,448.99 บาท แต่ไม่สามารถรับเงินดังกล่าวได้ เนื่องจากจำเลยที่ 2 ในฐานะรองอธิบดีกรมสรรพากรปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรจำเลยที่ 1 และฐานะส่วนตัวได้มีคำสั่งอายัดตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากรไปยังบริษัทอมรชัยนาท (1980) จำกัด เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2530โดยห้ามมิให้จำหน่ายจ่ายโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาที่ กจ.34/2528ที่ได้รับจากคลังจังหวัดพะเยาทั้งสิ้น นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งอายัด กับมีคำสั่งอายัดไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาไว้ด้วยโดยอ้างว่าเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างเป็นของบริษัทอมรชัยนาท (1980)จำกัด ผู้ค้างภาษีอากร กรมชลประทานโดยคลังจังหวัดพะเยาผู้จ่ายเงินแทนจึงไม่สามารถจ่ายเงินงวดสุดท้ายให้โจทก์ได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2530 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะรองอธิบดีกรมสรรพากร ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรจำเลยที่ 1ได้มีคำสั่งถอนการอายัดเดิม และมีคำสั่งอายัดใหม่อีกครั้งตามคำสั่งที่ บร.0779/2530 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2530 โดยแจ้งแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาให้อายัดเงินงวดสุดท้าย เป็นเงิน390,662.18 บาท โดยห้ามชำระหรือส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่บริษัทอมรชัยนาท (1980) จำกัด และให้ชำระหรือส่งมอบให้แก่สำนักงานสรรพากรอำเภอเมืองพะเยาภายใน 7 วัน และได้มีคำสั่งอายัดที่ บร.0780/2530 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2530 แจ้งไปยังบริษัทอมรชัยนาท (1980) จำกัด ด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาก่อนที่จำเลยทั้งสองจะได้มีคำสั่งอายัดทั้งหนี้ดังกล่าวก็มิได้เกี่ยวข้องกับหนี้ภาษีอากรอันเกิดจากการประกอบธุรกิจของบริษัทอมรชัยนาท (1980) จำกัด ตามสัญญาจ้าง ที่ กจ.34/2528 แต่อย่างใดโจทก์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายในการโอนสิทธิเรียกร้องโดยสมบูรณ์โดยสุจริต จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิอายัดสิทธิเรียกร้องหรือเงินดังกล่าวได้ต่อมาคลังจังหวัดพะเยาได้ส่งเงินจำนวน 438,889.02บาท แก่จำเลยที่ 1 ตามคำสั่งอายัดดังกล่าว โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ถอนคำสั่งอายัด และให้นำเงินจำนวน 438,889.02 บาทมาชำระคืนแก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2530 แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเพิกถอนคำสั่งอายัดที่ บร.0779/2530 และที่ บร. 0780/2530 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2530 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 490,473.22 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของจำนวนเงิน 438,889.02 บาทนับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า บริษัทอมรชัยนาท (1980) จำกัดได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2524 โดยรับโอนกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดอมรชัยนาทมาดำเนินการต่อไป เมื่อปี2527 เจ้าพนักงานประเมินสำหรับท้องที่สรรพากรเขต 1 ของจำเลยที่ 1เชื่อว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดอมรชัยนาทและบริษัทดังกล่าวยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1ได้ตรวจสอบไต่สวนแล้วพบว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีระหว่างปี 2527-2524ห้างหุ้นส่วนจำกัดอมรชัยนาทหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไม่ครบถ้วนต้องรับผิดชำระภาษีเงินได้เพิ่มเติมเป็นเงินภาษีและเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้น 188,970.65 บาท ส่วนบริษัทอมรชัยนาท (1980) จำกัดไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายจึงต้องรับผิดชำระภาษีเงินได้รวมทั้งเงินเพิ่มเป็นเงิน 191,770.02บาท และต้องชำระภาษีการค้าสำหรับเดือนพฤษภาคม 2525 รวมเบี้ยปรับและภาษีบำรุงเทศบาล เป็นเงิน 248,037.83 บาท รวมเป็นเงินภาษีอากรที่บริษัทอมรชัยนาท (1980) จำกัด ค้างจำนวน 628,778.50 บาทเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้ดังกล่าว แต่บริษัทอมรชัยนาท (1980) จำกัด ไม่ชำระจำเลยทั้งสองจึงมีคำสั่งอายัดตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ได้ลดจำนวนเงินเฉพาะภาษีการค้าให้แก่บริษัทอมรชัยนาท (1980) จำกัด จากจำนวน 248,037.83บาท เหลือเพียง 9,921.51 บาท จึงเป็นภาษีอากรที่ค้างชำระทั้งสิ้นเป็นเงิน 390,662.18 บาท จำเลยทั้งสองจึงได้เพิกถอนคำสั่งเดิมและมีคำสั่งอายัดใหม่จำนวน 390,662.18 บาท ตามจำนวนเงินภาษีที่ต้องรับผิดชำระแก่จำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2530คลังจังหวัดพะเยาได้หักเงินภาษีอากรค้างเพื่อนำส่งแก่จำเลยที่ 1รวมทั้งเงินเพิ่มตามภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ปี 2525คำนวณถึงวันชำระเป็นเงิน 29,354.62 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น420,016.80 บาท จำเลยทั้งสองได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ประมวลรัษฎากรให้อำนาจไว้โดยสุจริต การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมิอาจยกขึ้นอ้างได้ ทั้งตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องข้อ 2 ประกอบข้อ 4 ผู้โอนยินยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้รับโอนทุกประการ การโอนสิทธิเรียกร้องนี้มิใช่เป็นการชำระหนี้ด้วยอย่างอื่น อันจะทำให้หนี้ที่ผู้โอนมีอยู่กับผู้รับโอนระงับลงและในกรณีที่ผู้รับโอนไม่ได้รับเงินจากกรมชลประทานไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ผู้โอนยังคงผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่ผู้รับโอนจนครบ ซึ่งแสดงว่าผู้โอนยินยอมประกันหนี้รายนั้นกับโจทก์ด้วยดังนั้นหากโจทก์ยังไม่ได้รับประโยชน์ตามสัญญาดังกล่าวก็ชอบที่จะเรียกร้องส่วนที่ขาดจากบริษัทอมรชัยนาท (1980) จำกัดได้ โจทก์จึงยังไม่เสียหาย การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับบริษัทอมรชัยนาท (1980) จำกัด เป็นนิติกรรมอันทำให้เจ้าหนี้อื่นรวมทั้งจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ การโอนสิทธิดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความรับกันฟังยุติได้ว่า บริษัทอมรชัยนาท (1980) จำกัด ผู้ประมูลงานรับเหมาก่อสร้างระบบส่งน้ำและอาคารประกอบในเขตโครงการระบบส่งน้ำแม่ปิมอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เดิมของกรมชลประทานตามสำเนาสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง เอกสารหมาย จ.1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องที่บริษัทมีอยู่ต่อกรมชลประทานให้แก่โจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2529 และโจทก์ได้แจ้งถึงการรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่กรมชลประทานในฐานะลูกหนี้ของบริษัทอมรชัยนาท (1980) จำกัด ทราบแล้ว ทั้งกรมชลประทานก็ให้ความยินยอมในการที่โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องนั้น รายละเอียดปรากฏตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องและหนังสือแจ้งการโอนกับหนังสือให้ความยินยอมการโอนสิทธิเรียกร้องเอกสารหมาย จ.2, จ.3 และ จ.4 หลังจากโจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องแล้วจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่งอายัดเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายที่บริษัทอมรชัยนาท (1980) จำกัดมีต่อกรมชลประทานตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเอกสารหมาย จ.1 อ้างว่าบริษัทดังกล่าวค้างชำระค่าภาษีอากรแก่จำเลยที่ 1 โดยไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมายอยู่เป็นเงินจำนวน 390,662.18 บาท ต่อมาคลังจังหวัดพะเยาโดยความยินยอมของกรมชลประทานได้ส่งเงินค่าจ้างจำนวน 438,889.02 บาทซึ่งตามปกติกรมชลประทานจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ไปให้จำเลยที่ 1ตามที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งอายัดไว้ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ และจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด เห็นว่าเมื่อโจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างรับเหมาก่อสร้างระบบส่งน้ำและอาคารประกอบในเขตโครงการระบบส่งน้ำแม่ปิม อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา จากบริษัทอมรชัยนาท (1980) จำกัด ที่บริษัทดังกล่าวมีต่อกรมชลประทานโดยความยินยอมของกรมชลประทานโดยชอบแล้ว บริษัทอมรชัยนาท (1980)จำกัด จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องต่อกรมชลประทานอีกต่อไป จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ภาษีอากรของบริษัทอมรชัยนาท (1980) จำกัดย่อมจะขออายัดเงินที่กรมชลประทานจะต้องชำระให้โจทก์ไม่ได้ แม้อายัดไปคำสั่งอายัดก็ย่อมไม่มีผลบังคับต่อกรมชลประทาน การที่คลังจังหวัดพะเยาโดยความยินยอมของกรมชลประทานได้ส่งเงินค่าจ้างซึ่งกรมชลประทานจะต้องชำระแก่โจทก์ไปให้จำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 1มีคำสั่งอายัดไว้ ก็เป็นกรณีที่กรมชลประทานจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง กรณีดังกล่าวมิได้ทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้จากกรมชลประทานตามที่โจทก์ได้รับโอนมาจากบริษัทอมรชัยนาท (1980) จำกัด เสื่อมเสียไปไม่การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้นประเด็นเรื่องค่าเสียหายของโจทก์จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share