คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 363/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เช่าบ้านของ ส. ภรรยาจำเลยที่1 แล้วต่อมาถูก ส. ฟ้องขับไล่ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ขับไล่โจทก์ออกจากบ้านนั้น โจทก์ฎีกา และศาลฎีกายังไม่มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับ ขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ไปต่างจังหวัดและใส่กุญแจบ้านพิพาทไว้โดยฝากให้เพื่อนบ้านช่วยดูแลให้ จำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยที่ 2 ตัดหูร้อยกุญแจบ้านออก และให้จำเลยที่ 2 เข้าไปอยู่อาศัยในบ้านดังกล่าว ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าหลังจากอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ขับไล่โจทก์แล้ว ศาลชั้นต้นได้มีคำบังคับให้โจทก์ออกจากบ้านพิพาทภายใน 1 เดือน แต่ในวันอ่านคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ไม่ได้มาศาลและไม่ได้ลงลายมือชื่อรับทราบคำบังคับไว้ ทั้งเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ไม่ได้นำส่งคำบังคับไปยังโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 272 โจทก์จึงยังมีสิทธิอยู่ในบ้านพิพาท และย่อมเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานบุกรุกได้
โจทก์ถูกศาลพิพากษาให้ขับไล่ ได้ออกจากบ้านพิพาทและขนย้ายสิ่งของออกไปหมดสิ้นแล้วแต่เมื่อยังไม่ส่งมอบบ้านพิพาทคืน โดยได้ใส่กุญแจไว้และฝากให้เพื่อนบ้านช่วยดูแลให้ ทั้งโจทก์ยังมีสิทธิอยู่ในบ้านพิพาท ดังนี้ ถือว่าโจทก์ครอบครองบ้านพิพาทอยู่โดยปกติสุข การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ให้จำเลยที่ 2 ตัดหูร้อยกุญแจบ้านและให้จำเลยที่ 2 เข้าไปอยู่อาศัย จึงเป็นการใช้ให้จำเลยที่ 2 เข้าไปกระทำการอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุขตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362,84

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้จ้างวานใช้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตัดสายยูกุญแจบ้านซึ่งโจทก์เช่าจากนางสำอางค์ ชัยศิริ และบุกรุกเข้าไปโดยเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข ซึ่งจำเลยทั้งสามไม่มีอำนาจที่จะทำได้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362,83, 84

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ ก่อนสืบพยาน โจทก์ตาย นางยุพาภรรยาโจทก์ร้องขอดำเนินคดีต่างโจทก์ผู้ตายต่อไป ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดจริงตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2, ที่ 3 ขาดเจตนาบุกรุก พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 84 ให้ปรับ 600 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ และเห็นว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดจริงตามฟ้องพิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 84

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์เช่าบ้านจากนางสำอางค์ภรรยาจำเลยที่ 1 ต่อมานางสำอางค์ฟ้องขับไล่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่โจทก์ออกจากบ้านนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ในขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ไปต่างจังหวัดและใส่กุญแจบ้านไว้โดยฝากให้นายภักดีเพื่อบ้านช่วยดูแลให้ จำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยที่ 2 ตัดหูร้อยกุญแจบ้านออก และให้จำเลยที่ 2 กับครอบครัวเข้าไปอยู่อาศัยในบ้านดังกล่าว

วินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาขับไล่โจทก์ออกจากบ้านพิพาทและศาลฎีกายังไม่มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับ โจทก์จะต้องออกไปจากบ้านพิพาทตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ การที่โจทก์อยู่ในบ้านพิพาทต่อมาเป็นการอยู่โดยไม่มีสิทธิและเป็นการละเมิดสิทธิของนางสำอางค์ผู้ชนะคดี โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย และไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า เมื่อศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งอย่างใดซึ่งจะต้องมีการบังคับคดี อย่างเช่นพิพากษาขับไล่จำเลยออกจากบ้านพิพาท มิใช่ว่าจำเลยจะต้องออกจากบ้านพิพาทไปทันทีโดยไม่มีสิทธิอยู่อีกต่อไป ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 272 บัญญัติให้ศาลมีคำบังคับ กำหนดวิธีการที่จะปฏิบัติตามคำบังคับนั้นไว้ และให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งอยู่ในศาลในเวลาที่ศาลมีคำบังคับลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ หากในเวลาที่ศาลมีคำบังคับ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่อยู่ในศาลก็ต้องให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำส่งคำบังคับไปยังลูกหนี้ตามคำพิพากษาก่อนแต่จากสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2266/2515 ของศาลชั้นต้น ปรากฏว่าหลังจากอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ศาลชั้นต้นได้มีคำบังคับให้โจทก์ออกจากบ้านพิพาทภายใน 1 เดือน แต่ในวันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โจทก์ไม่มาศาลและไม่ได้ลงลายมือชื่อรับทราบคำบังคับไว้ ทั้งต่อมานางสำอางค์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ไม่ได้นำส่งคำบังคับไปยังโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงยังมีสิทธิอยู่ในบ้านพิพาท เมื่อโจทก์มีสิทธิอยู่ในบ้านพิพาท โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง

ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีการครอบครองบ้านพิพาทโดยปกติสุขเพราะโจทก์ออกจากบ้านพิพาทและขนย้ายสิ่งของออกไปจนหมดสิ้นแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการรบกวนการครอบครองบ้านพิพาทของโจทก์โดยปกติสุข ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 84 นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้โจทก์จะออกจากบ้านพิพาทและขนย้ายสิ่งของออกไปจนหมดสิ้นแล้ว แต่โจทก์ยังไม่ส่งมอบบ้านพิพาทให้แก่นางสำอางค์ โจทก์ใส่กุญแจบ้านพิพาทไว้และฝากให้นายภักดีเพื่อนบ้านช่วยดูแลไว้ ทั้งโจทก์ยังมีสิทธิอยู่ในบ้านพิพาทดังที่วินิจฉัยมาแล้ว จึงถือว่าโจทก์ครอบครองบ้านพิพาทอยู่โดยปกติสุข การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ให้จำเลยที่ 2 ตัดหูร้อยกุญแจบ้านพิพาทออก แล้วให้จำเลยที่ 2 และครอบครัวเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านพิพาทนั้นเป็นการใช้ให้จำเลยที่ 2 เข้าไปกระทำการอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุขตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 84

พิพากษายืน

Share