คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 363/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กฎหมายหาได้ห้ามไม่ให้ฟ้องในกรณีที่ไม่มีการชันสูตรพลิกศพไม่และแม้การชันสูตรพลิกศพจะไม่ชอบ ก็ไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้ฟ้อง
ศาลเดิมลงโทษจำคุก สิบ ปี ศาลอุทธรณ์แก้เฉพาะกำหนดโทษให้จำคุก 5 ปีโดย มิได้แก้บท ถือว่า เป็นการแก้ไขเล็กน้อยห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 2 กับพวกเจ้าพนักงานตำรวจกำลังซุ่มดักจับคนร้ายที่จะปล้นทรัพย์ตามหน้าที่ จำเลยได้สมคบกันใช้อาวุธปืนยิงนายร้อยตำรวจโท ป. และนายร้อยตำรวจตรี จ. ถึงแก่ความตายโดยเจตนาฆ่าเพราะเข้าใจว่าเป็นคนร้ายที่จะมาทำการปล้นทรัพย์เป็นการเกินสมควรแก่เหตุ จำเลยให้การต่อสู้ว่าได้ยิงผู้ตายทั้ง 2 จริง ต่อสู้ว่าได้ปฏิบัติตามหน้าที่เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุและตัดฟ้องว่าการสอบสวนการชันสูตรพลิกศพไม่ชอบ โดยไม่มีผู้พิพากษาไปร่วมด้วย ซึ่งข้อนี้ได้ความว่า เมื่อผู้พิพากษาไปร่วมด้วยศพผู้ตายได้เผาเสียหมดแล้ว

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ได้ชันสูตรพลิกศพ และสอบสวนโดยชอบแล้วการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรกว่าเหตุ ให้จำคุกคนละ 10 ปีตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 249, 53

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ไม่จำต้องวินิจฉัยว่า การชันสูตรพลิกศพจะสมบูรณ์หรือไม่ เพราะอัยการฟ้องคดีโดยไม่มีการชันสูตรพลิกศพก็ได้ไม่มีกฎหมายห้าม และเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่า เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ แต่โทษแรงไป พิพากษาแก้ให้จำคุกคนละ 5 ปี นอกนั้นยืน

จำเลยทั้ง 2 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์แก้เฉพาะกำหนดโทษโดยจำคุกไม่เกิน 5 ปี เป็นการแก้ไขเล็กน้อย ห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง คงฎีกาได้เฉพาะข้อกฎหมาย คือการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งเห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 129 หาได้ห้ามไม่ให้ฟ้องในกรณีที่ไม่มีการชันสูตรพลิกศพไม่ ดังนั้นถึงแม้หากจะฟังว่าการชันสูตรพลิกศพในคดีนี้ไม่ชอบ เนื่องจากเมื่อผู้พิพากษาไปร่วมด้วยนั้นศพได้เผาเสียแล้ว ก็ไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้ฟ้อง สำหรับการสอบสวนได้กระทำมาโดยชอบแล้ว ฎีกาข้ออื่นเป็นข้อเท็จจริงต้องห้าม

พิพากษายืน

Share