แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยขายสร้อยให้ผู้เสียหาย 4 เส้นในราคา 100 บาทเศษแต่จำเลยกลับหยิบเอาธนบัตรฉบับละ 500 บาทจำนวน 1 ฉบับจากในกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายไปโดยพลการในทันทีที่ผู้เสียหายเปิดกระเป๋าสตางค์ ซึ่งผู้เสียหายยังมิทันได้หยิบธนบัตรดังกล่าวส่งให้จำเลย แล้วจำเลยก็หลบหนีไปเช่นนี้ การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการผิดสัญญาในทางแพ่งหรือเข้าใจผิดเพราะสื่อความหมายกันไม่รู้เรื่องแต่อย่างไร การกระทำของจำเลยเข้าลักษณะลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าจำเลยจึงมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(6) บัญญัติว่า พนักงานสอบสวน หมายความถึง เจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน มาตรา 18 วรรคสองก็บัญญัติให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไปในจังหวัดพระนครและธนบุรีมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน และประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่5 ตุลาคม 2515 ออกตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2508 ข้อ 8 กำหนดให้กองปราบปรามมีเขตอำนาจการรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและตามกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดคดีอาญาทั้งหลายทั่วราชอาณาจักร เมื่อได้ความว่าความผิดเกิดบริเวณท่าช้างวังหลวงในกรุงเทพมหานครร้อยตำรวจโทส. ซึ่งรับราชการตำแหน่งรองสารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 8 กองปราบปรามจึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ตามบทกฎหมายดังกล่าวแม้กรมตำรวจวางระเบียบไว้ว่า กองปราบปรามจะทำการสอบสวนความผิดอาญาได้ต่อเมื่อได้รับคำสั่งหรืออนุญาตจากอธิบดีกรมตำรวจหรือรองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจก็ตาม ก็เป็นเรื่องภายในของกรมตำรวจดังนั้นเมื่อร้อยตำรวจโท ส. ได้รับอนุญาตให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแล้วถึงแม้ว่าจะได้รับอนุญาตภายหลังจากร้อยตำรวจโท ส. สอบสวนคดีนี้เสร็จแล้วการสอบสวนที่ร้อยตำรวจโท ส. กระทำแต่ต้นย่อมชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้อง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 และให้จำเลยใช้เงิน 500 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา336 ให้จำคุกจำเลย 4 ปี และให้จำเลยใช้เงิน 500 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า จำเลยขายสร้อยให้ผู้เสียหาย 4เส้นในราคา 100 บาทเศษ แต่จำเลยกลับหยิบเอาธนบัตรฉบับละ 500บาท จำนวน 1 ฉบับ จากในกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายไปโดยพลการในทันทีที่ผู้เสียหายเปิดกระเป๋าสตางค์ ซึ่งผู้เสียหายยังมิทันได้หยิบธนบัตรดังกล่าวส่งให้จำเลยแล้วจำเลยก็หลบหนีไปเช่นนี้ การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการผิดสัญญาในทางแพ่งหรือเข้าใจผิดเพราะสื่อความหมายกันไม่รู้เรื่องแต่อย่างไรการกระทำของจำเลยเข้าลักษณะลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า จำเลยจึงมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์
ที่จำเลยอ้างว่าร้อยตำรวจโทสืบชาติได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ภายหลังจากร้อยตำรวจโทสืบชาติสอบสวนคดีนี้เสร็จแล้วเป็นเวลาถึงหนึ่งเดือนเศษ การสอบสวนของร้อยตำรวจโทสืบชาติจึงไม่ชอบ ถือว่าไม่มีการสอบสวนพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (6) บัญญัติไว้ว่า’พนักงานสอบสวน หมายความถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน’ และมาตรา 18 วรรคสองบัญญัติไว้ว่า’สำหรับในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดหรืออ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องห้ามีที่อยู่หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้’ ในคดีนี้ได้ความว่าเหตุเกิดบริเวณท่าช้างวังหลวงในกรุงเทพมหานครขณะสอบสวนคดีนี้ร้อยตำรวจโทสืบชาติมียศร้อยตำรวจตรีรับราชการดำรงตำแหน่งรองสารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 8 กองปราบปราม ซึ่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ประกาศ ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2515 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2508 ออกประกาศเรื่องกำหนดหน่วยงาน เขตอำนาจการรับผิดชอบและเขตพื้นที่การปกครองของหน่วยราชการในกรมตำรวจ ข้อ 8 กำหนดว่า ‘กองปราบปรามมีเขตอำนาจการรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและตามบทกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดคดีอาญาทั้งหลายทั่วราชอาณาจักร’ ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2 ดังนี้ขณะทำการสอบสวนร้อยตำรวจโทสืบชาติก็มีอำนาจสอบสวนคดีนี้อยู่แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 แต่ที่กรมตำรวจวางระเบียบไว้ว่า ‘กองปราบปรามและกองตำรวจสันติบาลจะทำการสอบสวนความผิดอาญาได้ต่อเมื่อได้รับคำสั่งหรืออนุญาตจากอธิบดีกรมตำรวจหรือรองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ ……..’ ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 1 ก็เพื่อเป็นการแบ่งแยกความรับผิดชอบในการสอบสวนคดีมิให้สับสนกับอำนาจของพนักงานสอบสวนท้องที่ที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเรื่องภายในของกรมตำรวจดังนั้น เมื่อร้อยตำรวจโทสืบชาติได้รับอนุญาตให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแล้ว ถึงแม้ว่าจะได้รับอนุญาตภายหลังจากร้อยตำรวจโทสืบชาติสอบสวนคดีนี้เสร็จไปแล้ว การสอบสวนที่ร้อยตำรวจโทสืบชาติกระทำแต่ต้นก็เป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก ให้จำคุก 4 ปี และให้จำเลยใช้เงิน 500 บาท แก่ผู้เสียหาย.