แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้จำเลย แต่มีข้อกำหนดห้ามมิให้จำเลยจำหน่ายจ่ายโอนโดยมิได้รับความเห็นชอบจากบุตรของเจ้ามรดกที่มีสิทธิอาศัย แต่ข้อกำหนดนี้หาได้ระบุไว้ว่า ถ้าจำเลยละเมิดข้อกำหนดแล้ว จะให้ที่พิพาทตกเป็นของผู้ใดไม่ ข้อกำหนดห้ามโอนจึงถือว่าเป็นอันไม่มีเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1700
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินและโรงเรือนให้จำเลยถือสิทธิปกครองโดยมีข้อกำหนดว่า ต้องอนุญาตให้บุตรและผู้สืบสายโลหิตต่อจากบุตรอาศัยอยู่ตลอดไป จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ซึ่งเป็นบุตรผู้ตายอาศัย ขอให้ศาลพิพากษาว่าข้อกำหนดเป็นอันไร้ผล ให้ที่ดินและโรงเรือนเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท
จำเลยให้การว่า ที่ดินและโรงเรือนตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย โดยจำเลยถือสิทธิเป็นเจ้าของโดยสงบและเปิดเผย ๒๔ ปีเศษ โจทก์ไม่มีสิทธิในทรัพย์ ไม่เคยอาศัย จำเลยไม่เคยแบ่งค่าเช่า โจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าข้อกำหนดในพินัยกรรมเป็นโมฆะเพราะเหตุใด โจทก์มีสิทธิเพียงจะฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติให้ถูกต้อง คดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยแบ่งที่ดินให้โจทก์ ๑ ใน ๔ ส่วน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพินัยกรรมข้อ ๑ นั้น เมื่ออ่านข้อความโดยตลอดแล้วฟังได้ว่าขุนพรหมสมบัติได้ยกกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่จำเลย แต่มีข้อกำหนดห้ามมิให้จำเลยจำหน่ายจ่ายโอน โดยมิได้รับความเห็นชอบจากบุตรที่มีสิทธิอาศัยอยู่ในที่นี้เท่านั้น ถ้าบุตรที่อยู่อาศัยเห็นชอบด้วย จำเลยก็จำหน่ายจ่ายโอนไปได้ และเงินที่จำหน่ายได้ก็ย่อมตกเป็นของจำเลย ถ้าขุนพรหมสมบัติมีเจตนาเพียงแต่ให้จำเลยมีสิทธิปกครองเท่านั้น ก็ต้องระบุต่อไปว่า เมื่อขายได้แล้วให้เอาเงินที่ขายได้มาแบ่งกัน แต่หาได้มีข้อกำหนดไว้เช่นนี้ ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่า ขุนพรหมสมบัติมีเจตนายกที่พิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย แต่มีข้อกำหนดห้ามจำหน่ายโดยมิได้รับความเห็นชอบของบุตรคนอื่น ๆ เท่านั้น แต่ข้อกำหนดนี้ก็หาได้ระบุไว้ว่าถ้าจำเลยละเมิดข้อกำหนดแล้ว จะให้ที่พิพาทตกเป็นของผู้ใดไม่ ฉะนั้น ข้อกำหนดห้ามโอนนี้จึงถือได้ว่าเป็นอันไม่มีเลย ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๐๐
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง