แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับจำเลยทั้งสี่ ผู้ร้องบรรยายคำร้องกล่าวอ้างแสดงอำนาจพิเศษและเบิกความในชั้นไต่สวนว่า ผู้ร้องครอบครองปรปักษ์ที่ดินตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว นับแต่ ป. ละทิ้งการครอบครองไป แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ขัดแย้งกับที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 339/2551 ของศาลชั้นต้นเดียวกัน ซึ่งผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงเดียวกันนี้เฉพาะเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่เศษ โดยการครอบครองปรปักษ์อ้างเหตุ ป. ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ยิ่งไปกว่านั้นในคดีแพ่งดังกล่าว โจทก์คดีนี้ก็ได้ยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 1151/2552 วินิจฉัยว่า ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะเป็นบริวารของ ป. และผู้ร้องมิได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ พิพากษายกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ดังนี้ คำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความคือผู้ร้องและโจทก์ในฐานะผู้คัดค้าน นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษา จนถึงวันที่คำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างเพื่อสนับสนุนว่าผู้ร้องมีอำนาจพิเศษจึงรับฟังไม่ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7963 ตำบลคลองตำหรุ อำเภอเมืองชลบุรี (บางปลาสร้อย) จังหวัดชลบุรี ของโจทก์ และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและส่งมอบคืนให้แก่โจทก์พนักงานบังคับคดีปิดประกาศกำหนดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2551
วันที่ 22 เมษายน 2551 ผู้ร้องยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษอ้างว่า ผู้ร้องมิใช่บริวารของจำเลยทั้งสี่ และผู้ร้องได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินบางส่วนเนื้อที่ 3 ไร่ ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2551 เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินเนื้อที่ 3 ไร่ ดังกล่าว โดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ววินิจฉัยว่า ผู้ร้องมิใช่ผู้มีอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เดิมพันเอกหญิงสมพร เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7963 ตำบลคลองตำหรุ อำเภอเมืองชลบุรี (บางปลาสร้อย) จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 143 ไร่ 2 งาน 27 ตารางวา ต่อมาได้มีการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อยหลายแปลง คงเหลือเนื้อที่ 31 ไร่ 7 ตารางวา โดยขณะนั้นพันเอกหญิงสมพรให้นายประสิทธิ์ บิดาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อาศัยอยู่ในที่ดินตามสัญญาอาศัยลงวันที่ 1 มกราคม 2523 ครั้นวันที่ 12 ตุลาคม 2527 พันเอกหญิงสมพรจดทะเบียนยกที่ดินให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 21 กรกฎาคม 2537 โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสี่ ซึ่งก่อนหน้านั้นนายประสิทธิ์ถึงแก่กรรมไปแล้วเมื่อปี 2530 จำเลยที่ 1 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การต่อสู้คดี คดีถึงที่สุดโดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ เป็นเหตุให้การบังคับคดีต้องล่าช้า ครั้นคดียุติโดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ซึ่งศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2546 แต่ในชั้นบังคับคดีก็ยังมีปัญหาว่า การให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินตามฟ้อง เป็นการบังคับคดีเกินไปจากคำพิพากษาหรือไม่ จนกระทั่งศาลฎีกาต้องมีคำสั่งคำร้องว่าไม่เป็นการบังคับคดีเกินไปกว่าคำพิพากษา โดยศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งคำร้องศาลฎีกาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2548 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2549 และจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 19 มีนาคม 2550 ขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกามีคำสั่งคำร้องอนุญาตตามคำขอ โดยศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งคำร้องศาลฎีกาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2550 โจทก์จึงร้องขอให้บังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2551 ข้างต้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า ผู้ร้องมีอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) หรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับจำเลยทั้งสี่ ผู้ร้องบรรยายคำร้องกล่าวอ้างแสดงอำนาจพิเศษและเบิกความในชั้นไต่สวนว่า ผู้ร้องครอบครองปรปักษ์ที่ดินตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว นับแต่นายประสิทธิ์ละทิ้งการครอบครองไป แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ขัดแย้งกับที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 339/2551 ของศาลชั้นต้นเดียวกัน ซึ่งผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2551 ขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงเดียวกันนี้เฉพาะเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่เศษ โดยการครอบครองปรปักษ์อ้างเหตุนายประสิทธิ์ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ยิ่งไปกว่านั้นในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 339/2551 ดังกล่าวโจทก์คดีนี้ก็ได้ยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 1151/2552 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 วินิจฉัยว่า ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะเป็นบริวารของนายประสิทธิ์ และผู้ร้องมิได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ พิพากษายกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 คดีหมายเลขแดงที่ 2121/2554 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2554 แนบท้ายคำแก้ฎีกา ดังนี้ คำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความคือผู้ร้องและโจทก์ในฐานะผู้คัดค้าน นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษา จนถึงวันที่คำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างเพื่อสนับสนุนว่าผู้ร้องมีอำนาจพิเศษจึงรับฟังไม่ได้ และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกา เพราะไม่เป็นผลให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป และพฤติการณ์แห่งคดีบ่งชี้ว่าผู้ร้องยื่นคำร้องโดยเจตนาประวิงการบังคับคดี ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมาให้ยกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ