แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์บรรยายถึงการกระทำของจำเลยว่า จำเลยได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2539 ถึงเดือนตุลาคม 2540 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดทั้งเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน ได้ร่วมกันยักยอกเงินของบริษัท พ. โดยร่วมกันเบิกถอนเงินของบริษัทจากธนาคาร ก. หลายครั้งหลายคราวแล้วเบียดบังเอาเงินที่ถอนดังกล่าวไปเป็นของตนเองหรือพวกของจำเลยรวมเป็นเงินประมาณ 100,000,000 บาท โดยเจตนาทุจริตอันเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีว่าวันเวลาที่จำเลยกระทำผิดเป็นช่วงวัน เวลาใดและจำนวนเงินที่อ้างว่าจำเลยได้ร่วมกันเบียดบังยักยอกไปหลายครั้งในระหว่างวันเวลาที่โจทก์ได้ระบุไว้ในคำฟ้องนั้นรวมเป็นเงินเท่าใดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 มาตรา 4 แล้ว กรณีหาจำต้องระบุวันเวลาให้แน่นอนไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นกรรมการบริษัทพงษ์ศิริชัยบ้านและที่ดิน จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจซื้อขายที่ดินและสร้างบ้านจัดสรรขายขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยทั้งสองได้รับมอบหมายจากโจทก์และผู้ถือหุ้นของบริษัทให้ทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหาร รวบรวมเงินจากลูกค้าโครงการบ้านจัดสรรนำมาแบ่งคืนให้โจทก์และผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนผู้ถือหุ้น เนื่องจากจะเลิกบริษัทและชำระบัญชีตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2539 ถึงเดือนตุลาคม 2540 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดทั้งเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันยักยอกเงินของบริษัทพงษ์ศิริชัยบ้านและที่ดินจำกัด โดยร่วมกันเบิกถอนเงินของบริษัทจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาบางแค หลายครั้ง แล้วเบียดบังเอาเงินที่ถอนดังกล่าวเป็นของตนเองหรือพวกของจำเลยทั้งสอง รวมเป็นเงินประมาณ100,000,000 บาท โดยเจตนาทุจริตโจทก์ทราบการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2540 เหตุเกิดที่แขวงบางแคเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง โดยอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1มีความเห็นแย้งว่า น่าจะมีคำสั่งประทับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2539 ถึงเดือนตุลาคม 2540 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกันจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันยักยอกเงินของบริษัทพงษ์ศิริชัยบ้านและที่ดิน จำกัดโดยร่วมกันเบิกถอนเงินของบริษัทจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)สาขาบางแค หลายครั้งหลายคราว แล้วเบียดบังเอาเงินที่ถอนดังกล่าวไปเป็นของตนเองหรือพวกของจำเลยทั้งสอง รวมเป็นเงินประมาณ100,000,000บาท โดยเจตนาทุจริต อันเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีว่าวันเวลาที่จำเลยทั้งสองกระทำผิดเป็นช่วงวัน เวลาใด และจำนวนเงินที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเบียดบังยักยอกไปหลายครั้งในระหว่างวันเวลาที่โจทก์ได้ระบุไว้ในคำฟ้องนั้นรวมเป็นเงินเท่าใดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 แล้ว โจทก์หาจำต้องบรรยายระบุวันเวลาที่แน่ชัดว่าจะต้องเป็นวันที่เท่าใด เดือนใด เวลาอะไรที่แน่นอน ดังที่จำเลยที่ 1 อ้างในคำแก้ฎีกาไม่ สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำในส่วนที่ว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเบียดบังยักยอกเงินที่เบิกถอนให้แก่ผู้ใด เมื่อใด ตามที่จำเลยที่ 1 อ้างในคำแก้ฎีกานั้น เป็นเรื่องที่จะนำสืบให้ปรากฏเห็นในชั้นพิจารณา ทั้งจำเลยทั้งสองก็ย่อมจะทราบดีว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเบียดบังยักยอกโดยเบิกถอนเงินให้แก่ผู้ใด เมื่อใด เพราะจำเลยทั้งสองเป็นผู้ที่ร่วมกันเบิกถอนเงินให้เอง ส่วนการที่โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันยักยอกเงินของบริษัทโดยร่วมกันเบิกถอนเงินไปจากธนาคารหลายครั้งและอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาในคำขอท้ายฟ้องด้วย อันเป็นการที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองเป็นหลายกระทงความผิดตามจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเบียดบังยักยอกไปแต่ละครั้ง แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายในคำฟ้องให้ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันยักยอกเงินไปกี่ครั้งในแต่ละครั้งเป็นจำนวนเท่าใด ทั้งในส่วนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกไปโจทก์ก็ไม่ได้บรรยายระบุยืนยันว่าเป็นจำนวนเท่าใด คงบรรยายระบุเพียงว่ารวมเป็นเงินประมาณ 100,000,000 บาท ตามที่จำเลยที่ 1 อ้างในคำแก้ฎีกานั้น เห็นว่า รายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยทั้งสองที่ว่าได้ร่วมกันยักยอกเงินไปกี่ครั้งก็ดี ในแต่ละครั้งเป็นจำนวนเท่าใดก็ดีและจำนวนเงินทั้งหมดมีประมาณ 100,000,000 บาท ก็ดี เป็นเรื่องที่จะนำสืบให้ปรากฏเห็นในชั้นพิจารณาได้ ทั้งจำเลยทั้งสองก็ย่อมจะทราบดีว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันยักยอกเงินไปกี่ครั้ง ครั้งละเท่าใดและรวมทั้งหมดแล้วเป็นจำนวนเท่าใด เพราะจำเลยทั้งสองเป็นผู้ที่ร่วมกันเบิกถอนเงินไปจากธนาคารเอง และในกรณีที่ว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันยักยอกเงินไปหลายครั้งอันจะเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่หรืออีกนัยหนึ่งว่าจำเลยทั้งสองจะมีความผิดตามบทกฎหมายใดหรือไม่เป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาวินิจฉัยโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากการนำสืบในชั้นพิจารณา ส่วนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันยักยอกไปนั้น แม้จะนำสืบในชั้นพิจารณารับฟังไม่ได้ว่ามีจำนวนถึงจำนวนโดยประมาณตามที่โจทก์บรรยายระบุไว้ในคำฟ้องก็หาเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองพ้นผิดไปไม่ จากเหตุผลที่ได้วินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมตามที่จำเลยที่ 1 อ้างในคำแก้ฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาที่ว่า คดีของโจทก์มีมูลหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยนั้นเนื่องจากศาลชั้นต้นไต่สวนพยานหลักฐานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียทีเดียว โดยได้พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ตามที่ได้ความจากการนำสืบของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีโจทก์มีมูลความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้อง”
พิพากษากลับ ให้ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป