คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3616/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 109,110,114 และ 115 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32,33,83,91,273 และ 274 จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสามแต่ละข้อหาตามฟ้องเป็นการกระทำโดยมีเจตนาในการกระทำผิดแยกต่างหากจากกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ประกอบกับจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดทั้งสามข้อหาตามฟ้องโดยมีเจตนาต่างกัน จำเลยจะฎีกาโต้เถียงว่า การกระทำผิดของจำเลยตามคำฟ้องโจทก์เป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียว โดยจำเลยมีเจตนาเพียงต้องการผลิตสินค้าแล้วใช้เครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายเพื่อการจำหน่าย ซึ่งเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวหาได้ไม่ ดังนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเรียงกระทงลงโทษจำเลยจึงถูกต้องแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกเป็นกรรมการโดยกรรมการคนหนึ่งคนใดลงชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 1มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2533บริษัทไก่ดำมหากิจ จำกัด ผู้เสียหายจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ต่อกระทรวงพาณิชย์เป็นรูปและคำมีลักษณะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมภายในกรอบด้านบนมีอักษรภาษาจีน 2 คำ อ่านว่า จูเจ็งถัดลงมาเป็นอักษรภาษาจีน 4 คำ ตัวอักษรโตกว่าอักษรด้านบนอ่านว่า โอกุ๋กโกยเจ็ง ถัดลงมาเป็นอักษรภาษาจีน 3 คำตัวอักษรเล็กกว่าตัวอักษรแถวที่ 2 แต่ตัวโตกว่าอักษรแถวบนสุด>อ่านว่า โอโกยไป้ ถัดลงมาเป็นรูปไก่หันข้างซ้ายสีดำบนพื้นที่สี่เหลี่ยมสีแดง ที่หางไก่มีอักษรโรมันว่า “R” อยู่ในวงกลมถัดลงมาเป็นอักษรโรมันภาษาอังกฤษ คำว่า “BONBACK” อ่านว่าบอนแบก ถัดลงมาเป็นอักษรโรมันภาษาอังกฤษ ตัวอักษรเล็กกว่าตัวอักษรภาษาอังกฤษด้านบนข้อความว่า”ESSENCE OF BLACK BONE CHICKEN” อ่านว่าเอสเซ็นซ์ ออฟ แบลก โบน ชิกเก็น ไว้กับสินค้าจำพวกที่ 42ชนิดสินค้าทั้งจำพวกได้แก่ ซุปไก่สกัด เป็นต้น ปรากฏตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าและทะเบียนแบบเครื่องหมายการค้าท้ายฟ้องผู้เสียหายได้ผลิตซุปไก่สกัดบรรจุขวดออกขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ และได้ออกแบบกล่องบรรจุสินค้า ใบสลากข้างขวดและเอกสารใบกำกับสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนไว้ดังกล่าวนอกจากนี้ที่กล่องบรรจุสินค้าและเอกสารใบกำกับสินค้าของผู้เสียหายได้ระบุเป็นภาษาจีนว่า ผลิตโดยบริษัทของผู้เสียหายด้วยเมื่อระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2535 จนถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2536 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันตลอดมา จำเลยทั้งสามร่วมกันกับพวกอีก 2 คน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรโดยใช้รูปและคำมีลักษณะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมมีอักษรภาษาจีน มีรูปไก่ดำหันข้างซ้ายบนพื้นที่สี่เหลี่ยมสีแดง ที่หางไก่มีอักษรโรมันว่า “R” อยู่ในวงกลมเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งหมด เพียงแต่เปลี่ยนตัวอักษรภาษาอังกฤษใต้รูปไก่ดำบนพื้นที่สี่เหลี่ยมสีแดงจากคำว่า “BONBACK” อ่านว่า บอนแบก เป็นคำว่า”BLACKBONE” อ่านว่า แบลกโบน เท่านั้น ทั้งนี้จำเลยทั้งสามมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายจำเลยทั้งสามร่วมกันจำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าซุปไก่สกัดที่ร่วมกันผลิตขึ้นซึ่งมีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายจำเลยทั้งสามร่วมกันเอาชื่อบริษัทผู้เสียหายที่เป็นภาษาจีนรูปรอบประดิษฐ์ และข้อความในการประกอบการค้าของผู้เสียหายมาใช้และทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้ห่อหุ้มหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกันกล่าวคือ จำเลยทั้งสามร่วมกันลอกเอารูปแบบ สี ข้อความต่าง ๆ บนกล่องสินค้าใบสลากข้างขวด และเอกสารใบกำกับสินค้าของผู้เสียหายทุกคำ ทุกตัวอักษร และทั้งการจัดวางรูปแบบของตัวอักษรและสี มาใช้ทำให้ปรากฏบนกล่องสินค้าซุปไก่สกัดใบสลากข้างขวด และเอกสารใบกำกับสินค้าซุปไก่สกัดของจำเลยทั้งสามที่ร่วมกันผลิตขึ้น กับเอาชื่อของบริษัทผู้เสียหายที่เป็นภาษาจีนมาใช้ ทำให้ปรากฏบนกล่องและใบกำกับสินค้าซุปไก่สกัดของจำเลยทั้งสามโดยระบุว่าเป็นสินค้าของบริษัทผู้เสียหายที่ผลิตขึ้น ทั้งนี้จำเลยทั้งสามมีเจตนาเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้เสียหายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลป่าสักอำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน และที่แขวงบางบำหรุเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน ในวันที่24 กุมภาพันธ์ 2536 เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้พร้อมฝาปิดขวดซุปไก่ยี่ห้อ BLACKBONE จำนวน 19,400 ฝา กล่องเปล่ายี่ห้อ BLACKBONE สีเขียว 22 กล่อง กล่องบรรจุขวดยี่ห้อBLACKBONE สีเขียว 3 กล่อง กล่องเปล่ายี่ห้อ BLACKBONE สีทอง 6 กล่อง กล่องเปล่ายี่ห้อ BONBACK สีทอง 4 กล่อง กล่องเปล่ายี่ห้อ BLSCKBONE สีเหลือง 3 กล่อง กล่องห่อบรรจุขนาด 6 ขวด ยี่ห้อ BLACKBONE สีทอง 1,200 กล่อง กล่องห่อบรรจุ ขนาด 6 ขวด ยี่ห้อ BLACKBONE สีเหลือง 1 กล่อง กล่องห่อบรรจุขนาด 6 ขวด ยี่ห้อ BLACKBONE สีเขียว 1 กล่อง ซุปไก่สกัดที่มีเครื่องหมายการค้ารูปไก่ดำและคำว่า “BLSCKBONE” กล่องสีทองกล่องละ 48 ขวด จำนวน 499 กล่อง ซุปไก่สกัดที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายกล่องสีเขียวกล่องละ48 ขวด 69 กล่อง กล่องบรรจุซุปไก่สกัดที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย 291,381 กล่องใบแทรกคำอธิบายสินค้า(ใบกำกับสินค้า) ที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย 15,000 แผ่นซุปไก่สกัดภายใต้สลากที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายซึ่งบรรจุกล่องแล้วกล่องละ108 ขวด จำนวน 14 กล่อง และใบสลากที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย 102,000 แผ่น เป็นของกลางขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 109, 110, 114 และ 115 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33,83, 91, 272 และ 274 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา บริษัทไก่ดำมหากิจ จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 109, 110, 114และ 115 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 และ 274 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับจำเลยที่ 1100,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี และปรับคนละ100,000 บาท ฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ปรับจำเลยที่ 1 100,000 บาทจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี และปรับคนละ 100,000 บาทฐานเอาชื่อรูปรอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ปรับจำเลยที่ 1 2,000 บาท ปรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2,000 บาท รวม 3 กระทง ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 202,000 บาทจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 ปี ปรับคนละ 202,000 บาทลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 101,000 บาท คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3คนละ 1 ปี ปรับคนละ 101,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโทษจำคุกมาก่อนเมื่อพิจารณารายงานสืบเสาะและพินิจจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประกอบด้วยแล้วเห็นควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 และที่ 3กลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปีแต่กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยที่ 2 และที่ 3โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก3 เดือน ต่อครั้งมีกำหนด 2 ปี เพื่อให้สอบถาม แนะนำตักเตือน หรือช่วยเหลือในเรื่องการประกอบอาชีพและความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับ จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามตามฟ้องเป็นความผิดกรรมเดียวกันหรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาว่า การกระทำผิดของจำเลยทั้งสามตามคำฟ้องโจทก์เป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกัน โดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาเพียงต้องการผลิตสินค้าซุปไก่สกัดแล้วใช้เครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายเพื่อการจำหน่ายเท่านั้นจึงเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวต้องลงโทษบทหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยทั้งสามทุกข้อหาเป็นการไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามแต่ละข้อหาตามฟ้อง เป็นการกระทำโดยมีเจตนาในการกระทำผิดแยกต่างหากจากกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันประกอบกับจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดทั้งสามข้อหาตามฟ้องโดยมีเจตนาต่างกัน ดังนี้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามเรียงกระทงความผิดรวม 3 กระทง นั้น จึงถูกต้องแล้ว
พิพากษายืน

Share