คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3615/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การมอบฉันทะและการขอเลื่อนคดี ป.วิ.อ. มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับ คำขอเลื่อนคดีด้วยวาจานั้น ตัวความหรือทนายความจะต้องกระทำด้วยตนเอง มิฉะนั้นจะต้องทำคำขอเลื่อนคดีเป็นลายลักษณ์อักษรและมอบฉันทะให้บุคคลใด บุคคลหนึ่งนำมายื่นต่อศาล ผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์ไม่มีอำนาจแถลงด้วยวาจาขอเลื่อนคดี.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 188, 83, 90, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งว่าคดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 4 และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 เกินอำนาจศาลชั้นต้นจะพิจารณาพิพากษา จึงให้ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาเฉพาะจำเลยที่ 4 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5
จำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธ
วันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก โจทก์นำพยานเข้าสืบได้ 1 ปากแล้วโจทก์แถลงขอให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ที่เหลือในนัดต่อไปศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ต่อวันที่ 26 พฤศจิกายน2527 เวลา 10.00 นาฬิกา ครั้นถึงวันนัดคงมีแต่เสมียนผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์มาศาล โจทก์และทนายโจทก์ไม่มาศาล จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องว่าโจทก์ไม่มาศาล และมิได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ขอให้ศาลสั่งตัดพยานโจทก์ และนัดสืบพยานจำเลยที่ 4 ต่อไป ศาลชั้นต้นนั่งพิจารณาเมื่อเวลา 11.55 นาฬิกา เสมียนทนายโจทก์แถลงว่าทนายโจทก์ติดธุระไม่มาศาลและขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานมาศาล ทั้งทนายโจทก์ก็ไม่มาศาลและมิได้ยื่นคำร้องแจ้งเหตุขัดข้องแต่อย่างใด ถือว่าโจทก์ไม่ติดใจสืบพยานที่เหลือจึงสั่งตัดพยานโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในเรื่องการมอบฉันทะและการขอเลื่อนคดีนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติไว้จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแทนตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เห็นว่า เรื่องทนายความมอบฉันทะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งกระทำการแทนนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 64 บัญญัติว่า “เว้นแต่ศาลจะได้สั่งเป็นอย่างอื่น เมื่อคดีมีเหตุผลพิเศษอันเกี่ยวกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทนายความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะคู่ความหรือทนายความอาจแต่งตั้งให้บุคคลใดทำการแทนได้โดยยื่นใบมอบฉันทะต่อศาลทุกครั้ง เพื่อกระทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือกำหนดวันนัดพิจารณาหรือวันสืบพยาน หรือวันฟังคำสั่งคำบังคับหรือคำชี้ขาดใด ๆ ของศาล มาฟังคำสั่งคำบังคับหรือคำชี้ขาดใด ๆ ของศาลหรือสลักหลังรับรู้ซึ่งข้อความนั้น ๆรับสำเนาคำให้การ คำร้อง หรือเอกสารอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 71 และ 72 และแสดงการรับรู้สิ่งเหล่านั้น” จะเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่าทนายความอาจมอบฉันทะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งมาทำการแทนในกิจการ 3 เรื่องดังกล่าวเท่านั้น สำหรับกิจการนอกจากนี้ต้องพิเคราะห์เป็นเรื่อง ๆ ไปว่าเป็นกิจการที่สำคัญ ซึ่งโดยสภาพเป็นที่เห็นได้ว่าทนายความจะต้องกระทำด้วยตนเองหรือไม่พิเคราะห์แล้วการขอเลื่อนคดีนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 40 วรรคแรกบัญญัติว่า “เมื่อศาลได้กำหนดนัดวันนั่งพิจารณาและแจ้งให้คู่ความทราบแล้ว ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเหตุจำเป็นที่จะต้องขอเลื่อนการนั่งพิจารณาต่อไป โดยเสนอคำขอในวันนั้นหรือก่อนวันนั้น ศาลจะสั่งให้เลื่อนคดีต่อไปก็ได้ ฯลฯ” วรรคสามบัญญัติว่า “คำขอเลื่อนคดีความวรรคหนึ่ง ถ้าไม่ได้เสนอต่อหน้าศาลด้วยวาจา ก็ให้ทำเป็นคำร้องและจะทำฝ่ายเดียวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลก็ได้” ศาลฎีกาเห็นว่าโดยสภาพแล้วคำขอเลื่อนคดีด้วยวาจานั้นจะต้องกระทำโดยตัวความหรือทนายความเท่านั้น หากตัวความหรือทนายความไม่อาจมาศาลได้ ก็จะต้องทำคำขอเลื่อนคดีเป็นลายลักษณ์อักษรและมอบฉันทะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งนำมายื่นต่อศาลผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะแถลงด้วยวาจาขอเลื่อนคดีต่อศาลและถือไม่ได้ว่าการที่ผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์ขอเลื่อนคดีต่อศาลด้วยวาจานั้นเป็นการแจ้งเหตุขัดข้องที่โจทก์และทนายโจทก์ไม่มาศาลให้ศาลทราบด้วย เมื่อโจทก์และทนายโจทก์ไม่ได้ขอเลื่อนคดีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ทั้งโจทก์และทนายโจทก์ไม่มาศาลและมิได้แจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลให้ศาลทราบ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตัดพยานโจทก์ที่เหลือ จึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share