แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ข้อ 5 กำหนดให้โอนทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และความรับผิดชอบของธนาคารอาคารสงเคราะห์เฉพาะที่เกี่ยวกับธุรกิจตามมาตรา 27(1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496 ให้แก่การเคหะแห่งชาติจำเลยและในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน สิทธิ อาคาร และหนี้นั้น ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์และจำเลยทำความตกลงกัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้คณะรัฐมนตรีชี้ขาดและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 577 วรรคแรกนายจ้างจะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย การโอนสิทธิการจ้างเช่นนี้ฐานะความเป็นลูกจ้างของลูกจ้างย่อมไม่สิ้นสุดลง เมื่อโจทก์มาทำงานกับจำเลยก็เพราะผลของการโอนตามประกาศของคณะปฏิวัติมิใช่โจทก์มาสมัครเข้าทำงานกับจำเลยใหม่ ฐานะความเป็นลูกจ้างของโจทก์ย่อมไม่สิ้นสุดลง และตามข้อ 5 ของประกาศคณะปฏิวัติระบุชัดว่า ให้โอนความรับผิดชอบของธนาคารอาคารสงเคราะห์มายังจำเลยด้วย ดังนั้น เมื่อมิได้ตกลงไว้เป็นอย่างอื่น การนับอายุการทำงานของโจทก์จึงต้องนับต่อเนื่องกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2498 ธนาคารอาคารสงเคราะห์จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างทำงานประจำ ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์2516 โจทก์โอนไปทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 316 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ฝ่ายเคหะชุมชน ได้รับค่าจ้างครั้งสุดท้ายเดือนละ 14,970 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2535จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุเกษียณอายุ และได้จ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ให้แก่โจทก์ตามสิทธิที่โจทก์ได้รับจากจำเลยตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 32 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในข้อ 6 และข้อ 6 ทวิ เฉพาะในช่วงเวลาที่โจทก์ทำงานกับจำเลยระหว่าง พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2535 แต่ยังไม่ได้จ่ายเงินจากกองทุนสงเคราะห์ในช่วงเวลาที่โจทก์ทำงานอยู่ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ก่อนโจทก์โอนมาทำงานกับจำเลยคือ ระหว่างพ.ศ. 2498 ถึง พ.ศ. 2516 รวม 17 ปี คิดเท่ากับอายุการทำงานเป็นปีคูณด้วยอัตราค่าจ้างเดือนสุดท้ายซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับจากเงินกองทุนสงเคราะห์ในช่วงเวลาดังกล่าวรวมเป็นเงิน 254,490 บาทจึงขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์จำนวน 254,490 บาทให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลก่อตั้งขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ข้อ 5(3) ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์โอนกิจการทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และความรับผิดชอบของธนาคารอาคารสงเคราะห์มาให้แก่จำเลยเฉพาะเกี่ยวกับธุรกิจตามมาตรา 27(1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์พ.ศ. 2496 ในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน สิทธิ อาคาร และหนี้สินให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์และจำเลยทำความตกลงกันถ้าตกลงกันไม่ได้ให้คณะรัฐมนตรีชี้ขาด โดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวนี้มิได้ระบุให้โอนอายุการทำงานของพนักงานธนาคารอาคารสงเคราะห์มารวมคำนวณกับอายุการทำงานของโจทก์ที่ทำงานกับจำเลย หากจะมีการนับอายุการทำงานของโจทก์ที่ทำงานในธนาคารอาคารสงเคราะห์มารวมคำนวณกับอายุการทำงานของโจทก์ที่ทำงานกับจำเลยด้วยก็เป็นเรื่องของการนับอายุการทำงานในกรณีคำนวณเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานเท่านั้น แต่กรณีที่จะนำอายุการทำงานในธนาคารอาคารสงเคราะห์มารวมกับอายุการทำงานกับจำเลยเป็นฐานในการคำนวณเงินกองทุนสงเคราะห์เพราะสิทธิในการรับเงินกองทุนสงเคราะห์ของโจทก์ เกิดขึ้นตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 32 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ตามข้อบังคับข้อ 4(5) กำหนดคำจำกัดความของคำว่าอายุการทำงานให้หมายความว่าระยะเวลาตั้งแต่วันที่ผู้ปฏิบัติงานเข้าประจำทำงานในการเคหะแห่งชาติในฐานะพนักงานตามงบทำการจนถึงวันสุดท้ายก่อนพ้นจากตำแหน่งในการเคหะแห่งชาติ คำจำกัดความข้อบังคับดังกล่าวเห็นได้ว่าอายุการทำงานของโจทก์ที่จะนำมาเป็นตัวคำนวณเงินกองทุนสงเคราะห์จะต้องเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2516อันเป็นวันที่โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2535อันเป็นวันสุดท้ายที่โจทก์ทำงานกับจำเลยรวมเป็นเวลาทั้งสิ้น19 ปี 7 เดือน 16 วัน ซึ่งปัดเศษเป็นจำนวนเต็มตามข้อบังคับของจำเลยข้อ 6 ทวิ วรรค 2 คิดเป็นเวลา 20 ปี โจทก์ได้รับเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 14,970 บาท และข้อ 6 ทวิ วรรคหนึ่งกำหนดว่าผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจำนวนเท่ากับเงินเดือนหรือค่าจ้างเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยอายุการทำงาน โจทก์มีอายุการทำงาน 20 ปี จึงมีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์จากจำเลยเป็นจำนวน 299,400 บาทซึ่งโจทก์ได้รับเงินจำนวนนี้ไปจากจำเลยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2535แล้ว อย่างไรก็ตามหากศาลจะฟังว่าโจทก์มีสิทธินับอายุการทำงานที่โจทก์ทำงานกับธนาคารสงเคราะห์รวมกับอายุการทำงานที่โจทก์ทำงานกับจำเลย โจทก์มีสิทธินับอายุการทำงานเริ่มตั้งแต่วันที่1 พฤศจิกายน 2512 อันเป็นวันที่โจทก์ได้บรรจุเป็นพนักงานของธนาคารอาคารสงเคราะห์จนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2516 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้โอนย้ายมาทำงานกับจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงิน 254,490 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่าตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ข้อ 5(3) ที่กำหนดให้โอนกิจการทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ และความรับผิดเฉพาะแต่ส่วนของกิจการอาคารเท่านั้น มิได้หมายความถึงสิทธิ หนี้ และความรับผิดที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์มีต่อผู้ปฏิบัติงานที่โอนมาด้วย ทั้งไม่ได้กำหนดให้โอนสิทธิของผู้ปฏิบัติงานมาด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธินำอายุการทำงานที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์มาเป็นอายุการทำงานกับจำเลยได้ และข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 32 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ของจำเลยไม่ได้กำหนดให้นำอายุการทำงานในธนาคารอาคารสงเคราะห์มารวมในการคำนวณเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิขอนับรวมได้ ทั้งการจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์นี้เป็นเรื่องของสวัสดิการนอกเหนือไปจากที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นจำเลยจึงมีสิทธิกำหนดเงื่อนไขประการใดก็ได้ เมื่อข้อบังคับฉบับที่ 32 ไม่ได้กำหนดให้นำอายุการทำงานของธนาคารอาคารสงเคราะห์มารวมเป็นอายุการทำงานเพื่อคำนวณเงินกองทุนสงเคราะห์ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำอายุงานดังกล่าวมานับรวม และคำว่า “อายุการทำงาน”ตามข้อบังคับของจำเลยตามข้อ 6 ทวิ หมายความว่า “ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ผู้ปฏิบัติงานเข้าทำงานในการเคหะแห่งชาติในฐานะพนักงานหรือลูกจ้างประจำ ตามงบทำการถึงวันสุดท้ายก่อนพ้นจากตำแหน่งในการเคหะแห่งชาติ” อายุการทำงานจึงต้องถือเอาระยะเวลาตั้งแต่เข้าทำงานกับการเคหะแห่งชาติ ซึ่งข้อบังคับนี้เพิ่งตราขึ้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2519 แสดงว่าการเคหะแห่งชาติไม่ประสงค์จะถือเอาอายุการทำงานกับหน่วยงานอื่นมารวมด้วย ทั้งข้อบังคับจำเลย ข้อ 6 ทวิ วรรคหนึ่ง กำหนดว่า “ผู้มีสิทธิรับเงินกองทุนสงเคราะห์มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์เป็นจำนวนเงินเท่ากับเงินเดือนหรือค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยอายุการทำงาน” การที่จำเลยจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ให้แก่โจทก์เฉพาะช่วงเวลาที่โจทก์ทำงานกับจำเลยระหว่าง พ.ศ. 2516 ถึงพ.ศ. 2535 จึงชอบแล้วนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ข้อ 5 กำหนดว่า “ให้โอน กิจการ ทรัพย์สินสิทธิ หนี้ และความรับผิดชอบของส่วนราชการและหน่วยงานดังต่อไปนี้ให้แก่การเคหะแห่งชาติ (3) ธนาคารอาคารสงเคราะห์เฉพาะที่เกี่ยวกับธุรกิจตามมาตรา 27(1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496 และในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินสิทธิ อาคาร และหนี้นั้น ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์และการเคหะแห่งชาติทำความตกลงกัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้คณะรัฐมนตรีชี้ขาด ฯลฯ” และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 วรรคแรกบัญญัติว่า นายจ้างจะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย ดังนี้การโอนสิทธิการจ้างเช่นนี้ฐานะความเป็นลูกจ้างของลูกจ้างย่อมไม่สิ้นสุดลง เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่าโจทก์มาทำงานกับจำเลยก็เพราะผลของการโอนตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว มิใช่โจทก์มาสมัครเข้าทำงานกับจำเลยใหม่ฐานะความเป็นลูกจ้างของโจทก์ย่อมไม่สิ้นสุด และตามข้อ 5 ของประกาศคณะปฏิวัติดังกล่าวระบุชัดว่า ให้โอนความรับผิดชอบของธนาคารอาคารสงเคราะห์มายังจำเลยด้วย ซึ่งย่อมหมายความรวมถึงความรับผิดชอบที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์มีต่อโจทก์ที่เป็นลูกจ้างซึ่งโอนมายังจำเลย ดังนั้น เมื่อมิได้ตกลงไว้เป็นอย่างอื่นการนับอายุการทำงานของโจทก์จึงต้องนับต่อเนื่องกัน ที่จำเลยอ้างว่า ประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวมิได้โอนความรับผิดในเรื่องโจทก์เป็นลูกจ้างของธนาคารอาคารสงเคราะห์มายังจำเลยหรือมิได้มีการตกลงกันหรือคณะรัฐมนตรีได้ชี้ขาดว่าให้นำอายุการทำงานของธนาคารอาคารสงเคราะห์มาเป็นอายุการทำงานของจำเลยนั้นฟังไม่ขึ้น อนึ่ง แม้ตามข้อบังคับจำเลยข้อ 4(5) กำหนดว่า “อายุการทำงาน” หมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ผู้ปฏิบัติงานเข้าประจำทำงานในการเคหะแห่งชาติในฐานะพนักงานหรือลูกจ้างประจำตามงบทำการถึงวันสุดท้ายก่อนพ้นจากตำแหน่งในการเคหะแห่งชาติฯลฯ” ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์โอนมาเป็นลูกจ้างจำเลยโดยผลของประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว มิใช่โจทก์มาสมัครเข้าทำงานกับจำเลยใหม่ก่อนโอนมาทำงานกับจำเลย โจทก์มีฐานะเป็นลูกจ้างประจำของธนาคารอาคารสงเคราะห์อยู่แล้วเมื่อโอนมาเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยจึงต้องนับอายุการทำงานติดต่อกัน เมื่อโจทก์เป็นผู้ปฏิบัติงานที่พ้นจากตำแหน่งในกรณีครบเกษียณอายุ จึงมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ตามข้อบังคับของจำเลย จำเลยจะอ้างว่าข้อบังคับฉบับที่ 32 ใช้บังคับเฉพาะลูกจ้างหรือพนักงานใหม่มิใช่ที่ถูกโอนมาเช่นโจทก์หาได้ไม่ จำเลยจึงต้องรับเอาอายุการทำงานของโจทก์ที่ทำงานกับธนาคารอาคารสงเคราะห์มานับรวมในการคำนวณเงินกองทุนให้แก่โจทก์ด้วยตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 32 ข้อ 6 และข้อ 6 ทวิ เมื่อข้อเท็จจริงยุติแล้วว่าโจทก์มีอายุการทำงานที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ก่อนโอนมายังจำเลยเป็นเวลา 17 ปี และจำเลยยังไม่จ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ตามอายุการทำงานดังกล่าวแก่โจทก์คิดนับรวมโดยคูณด้วยเงินเดือนอัตราสุดท้ายของโจทก์เดือนละ 14,970 บาทเป็นเงินกองทุนสงเคราะห์จำนวน 254,490 บาท ซึ่งจำเลยจะต้องจ่ายแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน