คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3613/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำความผิดของจำเลยความว่า เมื่อระหว่างวันที่ 7 เมษายน 2536 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 22 เมษายน 2536 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยลักเลื่อยโซ่ยนต์ของผู้เสียหายไป…แม้คำบรรยายของโจทก์พอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีว่า วันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดเป็นช่วงวันเวลาใด และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุให้ศาล เห็นว่า จำเลยลักทรัพย์ในเวลากลางคืนจึงต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (3) (4) (8) วรรคสอง จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำความผิดของจำเลยได้ความว่า เมื่อระหว่างวันที่ 7 เมษายน 2536 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 22 เมษายน 2536 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยลักเลื่อยโซ่ยนต์ของผู้เสียหายไป…แม้คำบรรยายของโจทก์พอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีว่า วันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดเป็นช่วงวันเวลาใด และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุให้ศาลเห็นว่าจำเลยลักทรัพย์ในเวลากลางคืนซึ่งความจริงเหตุอาจจะเกิดในเวลากลางวันก็ได้ จึงต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลยโดยฟังว่าจำเลยลักทรัพย์ในเวลากลางวัน ปัญหาดังกล่าวแม้มิได้มีฝ่ายใดฎีกาก็ตามแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 คดีจึงฟังได้เพียงว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์และเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยลักทรัพย์ราคา 15,000 บาท ของผู้เสียหายในสถานที่ราชการ โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ และเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า ลักษณะของการกระทำความผิดเป็นไปโดยอุกอาจไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนแก่เจ้าของทรัพย์ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในสังคมพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและมีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว ก็เป็นเหตุผลและความจำเป็นส่วนตัว ยังไม่เพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย อย่างไรก็ตามปรากฏจากคำฟ้องว่าผู้เสียหายได้รับการชดใช้ราคาทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายแล้ว นับว่าจำเลยได้บรรเทาผลร้ายแห่งคดีมาบ้างแล้ว มีศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำคุกจำเลยถึง 3 ปี ก่อนลดโทษ นั้นหนักเกินไป จึงเห็นสมควรแก้ไขกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสม ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3) (4) (8) วรรคสอง ให้จำคุก 2 ปี ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share