คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3613/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาว่า การที่โจทก์ยื่นแบบขอชำระภาษีอากรตามประกาศ กระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายเวลายื่นรายการการชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534 แล้วทำให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่จำเลยที่ 1หรือไม่นั้น โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเพื่อเพิ่มเติมปัญหาดังกล่าวขึ้นเป็นประเด็นในศาลภาษีอากรกลางแม้ศาลภาษีอากรกลางได้ยกคำร้องดังกล่าวของโจทก์ไปแล้วก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2539กระทรวงการคลังได้มีประกาศ เรื่อง ขยายเวลายื่นรายการการชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรตาม ประมวลรัษฎากรเพื่อให้โอกาสผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรที่ได้ยื่นรายการและชำระภาษีอากรไว้ไม่ครบถ้วนได้ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีอากรให้ถูกต้องตามแบบชำระภาษีอากรที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และโจทก์ได้ยื่นแบบขอชำระภาษีอากรดังกล่าวแล้ว คดีจึงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ยื่นแบบขอชำระภาษีอากรดังกล่าวทำให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มในคดีนี้ต่อจำเลยที่ 1 หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะเป็นปัญหาที่ศาลภาษีอากรกลางมิได้ยกเป็นประเด็นขึ้นวินิจฉัยมาก่อนก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายเวลายื่นรายการ ชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรตาม ประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534 ข้อ 2 นั้น ผู้ยื่นขอ ชำระภาษีอากรตามประกาศกระทรวงการคลังจะได้รับผลประโยชน์โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มเฉพาะภาษีอากรส่วนที่ชำระหรือนำส่งนั้นเท่านั้นแต่ในกรณีของโจทก์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คงเรียกเก็บเงินเพิ่มสำหรับการประเมินภาษีในปี 2528(ครึ่งปี) และปี 2529(ครึ่งปี) และสำหรับปี 2529 คงเรียกเก็บเบี้ยปรับร้อยละ50 ส่วนเงินเพิ่มเป็นไปตามที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินเรียกเก็บ เบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่เรียกเก็บจากโจทก์จึงเป็นเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากภาษีอากรที่โจทก์ยังคงยื่นเสียไว้ไม่ครบถ้วนจากการที่โจทก์ยื่นขอชำระภาษีไว้ดังกล่าวแล้วหาใช่เบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับภาษีอากรส่วนที่โจทก์ได้ชำระไว้ตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวไม่ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 8(5) ประกอบด้วยพระราชกฤษฎีกาออกตามความใน ประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 70) พ.ศ. 2520 มาตรา 4 การประกอบกิจการของโจทก์ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 70แต่ถ้าโจทก์แสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร แต่ถ้าตามหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้นมีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดดังกล่าว ก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ และตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8)เงินได้พึงประเมินของโจทก์เป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจของโจทก์ทั้งหมดก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามกฎหมาย เมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามกฎหมายแล้วจึงเป็นเงินได้สุทธิที่จะนำไปคำนวณเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 48 ดังนั้น การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีนี้ต้องเริ่มมาจากเงินได้จากการประกอบธุรกิจของโจทก์ทั้งหมดก่อน แล้วจึงนำค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามกฎหมายมาหักออก มิใช่คำนวณมาจากกำไรสุทธิ สำหรับค่าใช้จ่ายนั้นเมื่อโจทก์ไม่นำค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายที่กฎหมายกำหนดไว้มาหัก แต่จะหักตามความจำเป็นและสมควร โจทก์ก็มีหน้าที่จะต้องนำหลักฐานมาพิสูจน์ การที่โจทก์นำสืบอ้างว่าโจทก์มีกำไรจากการประกอบกิจการร้อยละ 10 นั้น ไม่เพียงพอจะถือว่ากำไรร้อยละ 10 ของโจทก์นั้นเป็นเงินได้สุทธิที่จะนำมาคำนวณเสียภาษี เมื่อโจทก์ไม่นำหลักฐานมาพิสูจน์ให้เห็นว่ารายได้ทั้งหมดของโจทก์จะต้องมีรายจ่ายที่จะหักได้ตามกฎหมาย เป็นอะไรบ้าง จำนวนเท่าใด โจทก์ต้องการให้หักค่าใช้จ่ายอีกเท่าใด การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาหักค่าใช้จ่ายให้เท่าที่ตรวจพบจึงเป็นการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยทั้งห้าให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามฟ้องชอบด้วยกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ประกอบกิจการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ ในปี 2531 เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ทำการตรวจสอบบัญชีของโจทก์ในรอบปีภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2528 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2528 และวันที่ 1 มกราคม 2529 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2529 และต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2535 เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถึงโจทก์รวม3 ฉบับ ฉบับแรกให้ชำระภาษีเงินได้ปี 2528 (ครึ่งปี) เพิ่มเติมพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 3,849,251 บาทฉบับที่ 2 ให้ชำระภาษีเงินได้ปี 2529 (ครึ่งปี) เพิ่มเติมพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 2,773,919 บาทฉบับที่ 3 ให้ชำระภาษีเงินได้ปี 2529 เพิ่มเติมพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 761,758 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยให้งดเรียกเก็บเบี้ยปรับสำหรับการประเมินภาษีในปี 2528 (ครึ่งปี) และปี 2529 (ครึ่งปี) และให้ลดเบี้ยปรับสำหรับปี 2529 ร้อยละ 50
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า การที่โจทก์ยื่นแบบขอชำระภาษีอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องขยายเวลายื่นรายการการชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534 ตามประกาศเอกสารหมาย จ.4 แล้ว ทำให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ ก่อนอื่นจะวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองยื่นคำแก้อุทธรณ์ก่อนว่า โจทก์มีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเพื่อเพิ่มเติมปัญหาดังกล่าวขึ้นเป็นประเด็นในศาลภาษีอากรกลาง แม้ศาลภาษีอากรกลางได้ยกคำร้องดังกล่าวของโจทก์ไปแล้วก็ตามแต่ในทางพิจารณาได้ข้อเท็จจริงเป็นยุติจากการนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสองตรงกันว่าเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2539 กระทรวงการคลังได้มีประกาศเรื่อง ขยายเวลายื่นรายการการชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร เพื่อให้โอกาสผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรที่ได้ยื่นรายการและชำระภาษีอากรไว้ไม่ครบถ้วนได้ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีอากรให้ถูกต้องตามแบบชำระภาษีอากรที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และโจทก์ได้ยื่นแบบขอชำระภาษีอากรดังกล่าวแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.3 แผ่นที่ 161เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้เช่นนี้ คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ยื่นแบบขอชำระภาษีอากรดังกล่าว ทำให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มในคดีนี้ต่อจำเลยที่ 1หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะเป็นปัญหาที่ศาลภาษีอากรกลาง มิได้ยกเป็นประเด็นขึ้นวินิจฉัยมาก่อนก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นในชั้นอุทธรณ์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสองประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า ประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว ข้อ 2 กำหนดว่า”ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรตามข้อ 1 มิได้ยื่นรายการและชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือยื่นรายการและชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน ไม่ว่าผู้นั้นได้รับแจ้งการประเมินหรือคำสั่งให้เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรไว้แล้วหรืออยู่ในระหว่างการถูกเรียกตรวจสอบไต่สวนหรือ ถ้าได้ยื่นรายการและชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรภายในระยะเวลาตามข้อ 5 แล้วผู้นั้นไม่ต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม และไม่ต้องรับผิดทางอาญาสำหรับภาษีอากรส่วนที่ชำระหรือนำส่งนั้น” จะเห็นได้ว่าผู้ยื่นขอชำระภาษีอากรตามประกาศกระทรวงการคลังจะได้รับผลประโยชน์โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มเฉพาะภาษีอากรส่วนที่ชำระหรือนำส่งนั้นเท่านั้น แต่ในกรณีของโจทก์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คงเรียกเก็บเงินเพิ่มสำหรับการประเมินภาษีในปี 2528 (ครึ่งปี) และปี 2529 (ครึ่งปี) และสำหรับปี 2529คงเรียกเก็บเบี้ยปรับร้อยละ 50 ส่วนเงินเพิ่มเป็นไปตามที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินเรียกเก็บ เบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่เรียกเก็บจากโจทก์จึงเป็นเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากภาษีอากรที่โจทก์ยังคงยื่นเสียไว้ไม่ครบถ้วนจากการที่โจทก์ยื่นขอชำระภาษีไว้ดังกล่าวแล้ว หาใช่เบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับภาษีอากรส่วนที่โจทก์ได้ชำระไว้ตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวไม่โจทก์ไม่อาจอ้างประกาศดังกล่าวมาเป็นประโยชน์แก่โจทก์ได้โจทก์จึงไม่พ้นผิดที่จะต้องชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
ปัญหาต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธิจะได้รับการหักค่าใช้จ่ายมากกว่าที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หักให้หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าตามคำบรรยายฟ้องและการนำสืบของโจทก์ฟังได้แล้วว่าโจทก์มีกำไรจากการประกอบการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในปี 2528และ 2529 เพียงร้อยละ 10 ถือได้ว่าโจทก์มีเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนและค่าใช้จ่ายตามกฎหมายสำหรับปี 2528 และ 2529เพียงร้อยละ 10 ของรายรับเท่านั้น หาได้มีเงินได้ตามที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินให้เสียภาษีไม่ เห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502มาตรา 8(5) ประกอบด้วยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 70) พ.ศ. 2520 มาตรา 4 การประกอบกิจการของโจทก์ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 70 แต่ถ้าโจทก์แสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรแต่ถ้าตามหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้นมีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดดังกล่าว ก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์และตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40(8) เงินได้พึงประเมินของโจทก์เป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจของโจทก์ทั้งหมดก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามกฎหมายเมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามกฎหมายแล้วจึงเป็นเงินได้สุทธิที่จะนำไปคำนวณเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรมาตรา 48 ดังนั้น การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีนี้ต้องเริ่มมาจากเงินได้จากการประกอบธุรกิจของโจทก์ทั้งหมดก่อนแล้วจึงนำค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามกฎหมายมาหักออก มิใช่คำนวณมาจากกำไรสุทธิตามที่โจทก์อ้างในคำอุทธรณ์ สำหรับค่าใช้จ่ายนั้นเมื่อโจทก์ไม่นำค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายที่กฎหมายกำหนดไว้มาหัก แต่จะหักตามความจำเป็นและสมควร โจทก์ก็มีหน้าที่จะต้องนำหลักฐานมาพิสูจน์ การที่โจทก์นำสืบอ้างว่าโจทก์มีกำไรจากการประกอบกิจการร้อยละ 10 นั้น ไม่เพียงพอจะถือว่ากำไรร้อยละ 10 ของโจทก์นั้น เป็นเงินได้สุทธิที่จะนำมาคำนวณเสียภาษี เมื่อโจทก์ไม่นำหลักฐานมาพิสูจน์ให้เห็นว่ารายได้ทั้งหมดของโจทก์จะต้องมีรายจ่ายที่จะหักได้ตามกฎหมายเป็นอะไรบ้าง จำนวนเท่าใดโจทก์ต้องการให้หักค่าใช้จ่ายอีกเท่าใด การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาหักค่าใช้จ่ายให้เท่าที่ตรวจพบจึงเป็นการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ชอบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิจะได้รับการหักค่าใช้จ่ายมากกว่านี้
พิพากษายืน

Share