แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟ้องร้องให้ผู้รับจ้างรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 นั้น ใช้บังคับแก่กรณีที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 กล่าวคือต้องเป็นกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา แล้วการชำรุดบกพร่องปรากฏขึ้นภายหลังส่งมอบงานให้แก่ผู้ว่าจ้างในสภาพเรียบร้อยถูกต้องตามสัญญาแล้ว มิใช่ความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นเพราะผู้รับจ้างปฏิบัติหรือทำงานไม่ถูกต้องตามสัญญา สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับบริษัท ร. ข้อ 6 มีความว่า เมื่องานแล้วเสร็จบริบูรณ์และผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานจากผู้รับจ้างหรือจากผู้รับจ้างรายใหม่ในกรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาตามข้อ 5 หากมีเหตุชำรุดบกพร่องหรือเสียหายเกิดขึ้นภายในกำหนด 1 ปี นับถัดจากวันที่ได้รับมอบงานดังกล่าว ซึ่งความชำรุดบกพร่องหรือเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้างอันเกิดจากการใช้วัสดุที่ไม่ถูกต้องหรือทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือทำไว้ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชา ผู้รับจ้างจะต้องรีบทำการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยโดยไม่ชักช้าโดยผู้ว่าจ้างไม่ต้องออกเงินใด ๆ ในการนี้ทั้งสิ้น หากผู้รับจ้างบิดพลิ้วไม่กระทำการดังกล่าวภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้างหรือไม่ทำการแก้ไขให้เรียบร้อยภายในเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิกระทำการนั้นเองหรือจ้างผู้อื่นให้ทำงานนั้นโดยผู้รับจ้างต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย โจทก์บรรยายฟ้องว่า ความชำรุดบกพร่องเสียหายเกิดจากการที่บริษัท ร. ใช้วัสดุไม่ถูกต้องหรือทำงานไม่เรียบร้อยไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชาเป็นจำนวนมาก อันเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลแห่งความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากการดำเนินการตามสัญญาจ้างของบริษัท ร. โดยตรง มิใช่ความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่บริษัท ร. ส่งมอบงานที่รับจ้างที่ถูกต้องสมบูรณ์ไร้ข้อบกพร่องให้แก่โจทก์แล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าจ้างตามที่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็นพิเศษ ซึ่งโจทก์และบริษัท ร. ผูกพันต้องปฏิบัติต่อกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 ที่จะนำอายุความตามมาตรา 601 มาใช้บังคับ และไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้บทบัญญัติเรื่องอายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ดังนี้ แม้จะนับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2538 ซึ่งโจทก์พบความชำรุดบกพร่อง อันเป็นวันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้เป็นครั้งแรกจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องบังคับแก่จำเลยที่ 2 คือวันที่ 16 มิถุนายน 2548 ยังเป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี คำฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
การที่จำเลยที่ 3 ได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันซึ่งเป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้นั้น แม้จะเข้าข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 327 วรรคสามว่า หนี้ตามสัญญาค้ำประกันเป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว แต่ข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด หากปรากฏข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นก็ย่อมฟังตามข้อเท็จจริงนั้นได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ยังมีภาระต้องชำระหนี้ที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวแก่โจทก์ และหนี้ดังกล่าวมิได้ระงับไปด้วยเหตุประการอื่นใด จำเลยที่ 1 ยังคงต้องชำระหนี้นั้นแก่โจทก์ เพียงเหตุที่จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันกลับคืนมาไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็หาส่งผลให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 50,748,226.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 47,700,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมชำระเงิน 1,132,392.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,064,375 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 47,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิด 1,064,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 3 ใช้ตามทุนทรัพย์ที่จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 2105/2547 ของศาลชั้นต้น พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีก่อนจำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้เรียกค่าจ้างควบคุมงานโดยมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยอาศัยเหตุคนละอย่างกับคดีนี้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 47,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องคือวันที่ 16 มิถุนายน 2548 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดไม่เกิน 3,048,226.03 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นพับ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2536 โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาบริษัทรัตนะเคหะ จำกัด ก่อสร้าง ต่อเติม ปรับปรุงอาคารและสิ่งปลูกสร้างโรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นเงิน 1,215,000,000 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงินไม่เกิน 60,750,000 บาท วันเดียวกัน โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างเป็นเงิน 21,287,500 บาท ให้มีหน้าที่ควบคุมดูแลการทำงานของบริษัทรัตนะเคหะ จำกัด ให้เป็นไปตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง โดยมีข้อตกลงตามข้อ 11 ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่หรือไม่ได้ใช้ความรู้ที่เหมาะสมหรือไม่ได้ควบคุมงานจนเกิดความเสียหายและไม่หาทางแก้ไขให้เรียบร้อย โจทก์มีสิทธิว่าจ้างบุคคลอื่นแก้ไขโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหาย โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 1,064,375 บาท โจทก์ขยายระยะเวลาตามสัญญาให้แก่บริษัทรัตนเคหะ จำกัด รวม 4 ครั้ง ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 บริษัทรัตนเคหะ จำกัด ทยอยส่งมอบงานให้โจทก์โดยจำเลยที่ 1 ตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องทุกงวด ตั้งแต่งวดแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2538 เรื่อยมาเป็นระยะจนครบตามสัญญา โจทก์ตรวจพบความชำรุดบกพร่องของงานที่ตรวจรับครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2538 และต่อมาอีกหลายครั้ง โจทก์รับมอบงานจากบริษัทรัตนเคหะ จำกัด งวดสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2541 และได้ชำระเงินค่าจ้างแก่บริษัทรัตนเคหะ จำกัด และจำเลยที่ 1 ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว ก่อนและหลังวันรับมอบงานงวดสุดท้ายดังกล่าว โจทก์มีหนังสือแจ้งให้บริษัทรัตนะเคหะ จำกัด ทำการแก้ไขตลอดมารวมทั้งแจ้งให้จำเลยที่ 1 ควบคุมเร่งรัด แต่บริษัทรัตนะเคหะ จำกัด ดำเนินการแก้ไขเพียงเล็กน้อย โจทก์จึงนัดประชุมกับบริษัทรัตนเคหะ จำกัด และจำเลยที่ 1 เพื่อหารือแนวทางแก้ไขเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2542 บริษัทรัตนเคหะ จำกัด และจำเลยที่ 1 ยอมรับว่างานที่ทำชำรุดบกพร่องจากการใช้วัสดุไม่ถูกต้องรวมทั้งไม่เรียบร้อยตามมาตรฐานหลักวิชาการ และโจทก์ได้แจ้งให้ทราบภายในกำหนดเวลาตามสัญญาแล้ว บริษัทรัตนะเคหะ จำกัด รับว่าจะดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องให้เรียบร้อยภายในวันที่ 28 กันยายน 2542 แต่ดำเนินการเพียงเล็กน้อย โจทก์จึงว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด สกลเจริญก่อสร้าง ทำการปรับปรุงแก้ไขเป็นเงิน 47,700,000 บาท ห้างหุ้นส่วนจำกัด สกลเจริญก่อสร้าง ดำเนินการเสร็จตามสัญญาดังกล่าวและส่งมอบงานให้แก่โจทก์ทั้งได้รับเงินค่าจ้างจากโจทก์ครบถ้วน และโจทก์ได้คืนหนังสือค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 3 แล้ว
มีปัญหาวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การฟ้องร้องให้ผู้รับจ้างรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 นั้น ใช้บังคับแก่กรณีที่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 กล่าวคือต้องเป็นกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา แล้วการชำรุดบกพร่องปรากฏขึ้นภายหลังส่งมอบงานให้แก่ผู้ว่าจ้างในสภาพเรียบร้อยถูกต้องตามสัญญาแล้ว มิใช่ความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นเพราะผู้รับจ้างปฏิบัติหรือทำงานไม่ถูกต้องตามสัญญา สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับบริษัทรัตนะเคหะ จำกัด ข้อ 6 มีความว่า เมื่องานแล้วเสร็จบริบูรณ์และผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานจากผู้รับจ้างหรือจากผู้รับจ้างรายใหม่ในกรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาตามข้อ 5 หากมีเหตุชำรุดบกพร่องหรือเสียหายเกิดขึ้นภายในกำหนด 1 ปี นับถัดจากวันที่ได้รับมอบงานดังกล่าว ซึ่งความชำรุดบกพร่องหรือเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้างอันเกิดจากการใช้วัสดุที่ไม่ถูกต้องหรือทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือทำไว้ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชา ผู้รับจ้างจะต้องรีบทำการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยโดยไม่ชักช้าโดยผู้ว่าจ้างไม่ต้องออกเงินใดๆ ในการนี้ทั้งสิ้น หากผู้รับจ้างบิดพลิ้วไม่กระทำการดังกล่าวภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้างหรือไม่ทำการแก้ไขให้เรียบร้อยภายในเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิกระทำการนั้นเองหรือจ้างผู้อื่นให้ทำงานนั้นโดยผู้รับจ้างต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย โจทก์บรรยายฟ้องว่า ความชำรุดบกพร่องเสียหายเกิดจากการที่บริษัทรัตนเคหะ จำกัด ใช้วัสดุไม่ถูกต้องหรือทำงานไม่เรียบร้อยไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชาเป็นจำนวนมาก อันเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลแห่งความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากการดำเนินการตามสัญญาจ้างของบริษัทรัตนเคหะ จำกัด โดยตรง มิใช่ความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่บริษัทรัตนเคหะ จำกัด ส่งมอบงานที่รับจ้างที่ถูกต้องสมบูรณ์ไร้ข้อบกพร่องให้แก่โจทก์แล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าจ้างตามที่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็นพิเศษ ซึ่งโจทก์และบริษัทรัตนเคหะ จำกัด ผูกพันต้องปฏิบัติต่อกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 ที่จะนำอายุความตามมาตรา 601 มาใช้บังคับ และไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้บทบัญญัติเรื่องอายุความทั่วไป 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ดังนี้ แม้จะนับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2538 ซึ่งโจทก์พบความชำรุดบกพร่อง อันเป็นวันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้เป็นครั้งแรกจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องบังคับแก่จำเลยที่ 2 คือวันที่ 16 มิถุนายน 2548 ยังเป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี คำฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2547 หรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันของบริษัทรัตนเคหะ จำกัด รับผิดชอบในค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด สกลเจริญก่อสร้าง ผู้รับเหมารายใหม่ทำการซ่อมแซมต่อเติมอาคารซึ่งบริษัทรัตนเคหะ จำกัด ทำไว้ชำรุดบกพร่องแล้วไม่ดำเนินการแก้ไขให้เสร็จสิ้นตามสัญญา หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้เงินอันต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ในสัญญาจ้าง ข้อ 6 กำหนดหน้าที่และความรับผิดของบริษัทรัตนเคหะ จำกัด เกี่ยวกับความชำรุดบกพร่องไว้ว่า ผู้รับจ้างจะต้องรีบทำการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยโดยไม่ชักช้า หากผู้รับจ้างบิดพลิ้วไม่กระทำการดังกล่าวภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้างหรือไม่ทำการแก้ไขให้เรียบร้อยภายในเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิกระทำการนั้นเองหรือจ้างผู้อื่นให้ทำงานนั้นโดยผู้รับจ้างต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ดังนี้ บริษัทรัตนเคหะ จำกัด ย่อมมีหนี้ที่ต้องชำระแก่โจทก์เป็นลำดับคือ หนี้อันเป็นการกระทำการซ่อมแซมความชำรุดบกพร่อง หากไม่ยอมกระทำก็ต้องรับผิดชำระเงินค่าใช้จ่ายที่โจทก์ดำเนินการหรือว่าจ้างบุคคลอื่นดำเนินการแก่โจทก์ บริษัทรัตนเคหะ จำกัด ตกลงจะแก้ไขข้อบกพร่องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กันยายน 2542 อันเป็นการกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน แต่ก็หาได้ดำเนินการตามที่ตกลงไว้ดังกล่าวไม่ บริษัทรัตนเคหะ จำกัด จึงตกเป็นผู้ผิดนัด และต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายที่โจทก์ดำเนินการหรือต้องว่าจ้างบุคคลอื่น แก่โจทก์ทันที ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแก่บริษัทรัตนเคหะ จำกัด รวมทั้งจำเลยที่ 2 ให้ชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าว ซึ่งบริษัทรัตนเคหะ จำกัด และจำเลยที่ 2 ได้รับเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2543 ครบกำหนด 15 วัน ตามหนังสือทวงถามวันที่ 11 กรกฎาคม 2543 แต่บริษัทรัตนเคหะ จำกัด และจำเลยที่ 2 ไม่ชำระ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2543 เป็นต้นไป แต่โจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2547 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทำสัญญาจ้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด สกลเจริญก่อสร้าง เข้าทำการซ่อมแซมงานส่วนที่ชำรุดบกพร่อง จึงกำหนดให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2547 ตามคำขอ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า บริษัทรัตนเคหะ จำกัด ถูกศาลล้มละลายกลางพิพากษาให้ล้มละลายแล้วเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2545 เป็นคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 735/2545 โจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิที่โจทก์มีอยู่ต่อบริษัทรัตนเคหะ จำกัด ได้ หนี้ที่บริษัทรัตนเคหะ จำกัด มีอยู่แก่โจทก์จึงระงับไป จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องนั้น ปัญหาตามฎีกาดังกล่าวจึงมีว่าโจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือไม่ เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา มิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 อันผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในขณะเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปไม่ว่าเพราะเหตุใดๆ การที่จำเลยที่ 3 ได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันซึ่งเป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้นั้น แม้จะเข้าข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 327 วรรคสามว่า หนี้ตามสัญญาค้ำประกันเป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว แต่ข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด หากปรากฏข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น ก็ย่อมฟังตามข้อเท็จจริงนั้นได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ยังมีภาระต้องชำระหนี้ที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวแก่โจทก์ และหนี้ดังกล่าวมิได้ระงับไปด้วยเหตุประการอื่นใด จำเลยที่ 1 ยังคงต้องชำระหนี้นั้นแก่โจทก์ เพียงเหตุที่จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันกลับคืนมาไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็หาส่งผลให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 ได้ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดตามหนังสือค้ำประกันในวงเงิน 1,064,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,064,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องไม่เกิน 68,017.94 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ