คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3609/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ไม้ยางเป็นไม้ที่กำหนดโดย พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484มาตรา 7 วรรคแรก ให้เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดในราชการอาณาจักร จึงไม่จำต้องมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ไม้ยางเป็นไม้หวงห้ามประเภทใดอีก จำเลยกระทำผิดฐานรับของโจรเฉพาะไม้ยาง 1 ท่อน ที่อยู่ในครอบครองของจำเลยซึ่งไม้ยางดังกล่าวเจ้าพนักงานตำรวจยึดกลับคืนมาได้แล้วและจำเลยไม่ได้เป็นผู้ลักไม้ยางของผู้เสียหาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ราคาไม้ยางที่ถูกลักไปแต่ยังหาไม่พบ แม้ไม้ยางที่พบอยู่ในครอบครองของจำเลยเป็นไม้ที่จำเลยได้มาหรือมีไว้เนื่องจากการกระทำผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้ยางอันยังมิได้แปรรูปโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 69 แต่ไม้ยางดังกล่าวเป็นของผู้เสียหายซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดศาลย่อมไม่มีอำนาจริบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33ประกอบพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 74 แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์และฎีกาปัญหานี้ แต่เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 195วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า มีคนร้ายหลายคนร่วมกันลักตัดไม้ยาง จำนวน1 ต้น ราคา 1,000 บาท ของเสียหายไปโดยทุจริต และมีผู้พบเห็นไม้ยางจำนวน 1 ท่อน ราคา 500 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกลักไปบางส่วนอยู่ในครอบครองของจำเลยกับพวกทั้งนี้ จำเลยเป็นคนร้ายร่วมกับพวกลักตัดไม้ยางจำนวน 1 ต้นของผู้เสียหายไปโดยทุจริต หรือมิฉะนั้น จำเลยกับพวกร่วมกันรับของโจทก์ นอกจากนั้นจำเลยกับพวกได้ร่วมกันทำไม้ยางซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 โดยตัดฟันออกจากต้นจำนวน 1 ต้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นจำเลยกับพวกได้ร่วมกันมีไม้ยางจำนวน 1 ท่อน ปริมาตร 0.55 ลูกบาศก์เมตรคิดค่าภาคหลวง 33 บาท ยังมิได้แปรรูปซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภทก. ตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484ไว้ในครอบครองโดยไม้ดังกล่าวไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย และจำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ไม้ดังกล่าวมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72, 33, 83,91, 334, 357 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2488 มาตรา 7, 11, 6973, 74, 74 จัตวา และขอให้ริบของกลาง กับให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์จำนวน 1,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ.2484 มาตรา 7, 69 วรรคสอง (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ความผิดฐานรับของโจร ลงโทษจำคุก 1 ปี ความผิดฐานมีไม้ยางอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ลงโทษจำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี ของกลางให้ริบ และให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์จำนวน 500 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุมีคนร้ายลักตัดเอาไม้ยางจำนวน1 ต้น ราคา 1,000 บาท ของผู้เสียหายไป จำเลยช่วยซ่อนเร้นไม้ยางของผู้เสียหายดังกล่าวจำนวน 1 ท่อน ราคา 500 บาทโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์
จำเลยฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความติดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ทั้งที่โจทก์มิได้นำสืบถึงพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดให้ไม้ยางเป็นไม้หวงห้ามและมิได้นำสืบว่าทางราชการคัดสำเนาประกาศไว้ ณ ที่ใด จำเลยทราบประกาศเมื่อใด เป็นการไม่ถูกต้อง เห็นว่า ไม้ยางเป็นไม้ที่กำหนดโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7 วรรคแรก ให้เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักรจึงไม่จำต้องมีพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ไม้ยางเป็นไม้หวงห้ามประเภทใดอีก
จำเลยฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยชดใช้ราคาไม้ยางจำนวน 500 บาท ให้แก่ผู้เสียหายเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะผู้เสียหายมิได้ขออนุญาตตัดโค่นไม้ยางตามฟ้อง ไม่อาจอ้างว่าเป็นเจ้าของได้ เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำผิดฐานรับของโจรเฉพาะไม้ยาง 1 ท่อนที่อยู่ในครอบครองของจำเลย ซึ่งไม้ยางดังกล่าวเจ้าพนักงานตำรวจยึดกลับคืนมาได้แล้ว และจำเลยไม่ได้เป็นผู้ลักไม้ยางของผู้เสียหายจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ราคาไม้ยางจำนวน 500 บาท อันเป็นราคาของไม้ยางที่ถูกลักไปแต่ยังหาไม่พบอีก ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยชดใชัราคาไม้ยางจำนวน 500 บาท ให้แก่ผู้เสียหายมาด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองสั่งริบของกลาง ซึ่งโจทก์บรรยายมาในคำฟ้องว่าได้แก่ไม้ยาง 1 ท่อน ของผู้เสียหายที่พบอยู่ในครอบครองของจำเลยนั้น แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าไม้ยางดังกล่าวเป็นไม้ที่จำเลยได้มาหรือมีไว้เนื่องจากการกระทำผิดฐานมีไว้ครอบครองซึ่งไม้ยางอันยังมิได้แปรรูปโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 69ข้อเท็จจริงปรากฎชัดว่าไม้ยางดังกล่าวเป็นของผู้เสียหายซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ศาลย่อมไม่มีอำนาจริบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ประกอบพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 74 แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์และฎีกาปัญหานี้ขึ้นมา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย และยกคำขอริบของกลาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share