คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3609/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ไม้ยางเป็นไม้ที่กำหนดโดย พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7วรรคแรก ให้เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักร จึงไม่จำต้องมี พ.ร.ฎ.กำหนดให้ไม้ยางเป็นไม้หวงห้ามประเภทใดอีก
จำเลยกระทำผิดฐานรับของโจรเฉพาะไม้ยาง 1 ท่อน ที่อยู่ในครอบครองของจำเลยซึ่งไม้ยางดังกล่าวเจ้าพนักงานตำรวจยึดกลับคืนมาได้แล้วและจำเลยไม่ได้เป็นผู้ลักไม้ยางของผู้เสียหาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ราคาไม้ยางที่ถูกลักไปแต่ยังหาไม่พบ
แม้ไม้ยางที่พบอยู่ในครอบครองของจำเลยเป็นไม้ที่จำเลยได้มาหรือมีไว้เนื่องจากการกระทำผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้ยางอันยังมิได้แปรรูปโดยมิชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 69แต่ไม้ยางดังกล่าวเป็นของผู้เสียหายซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดศาลย่อมไม่มีอำนาจริบ ตาม ป.อ. มาตรา 33 ประกอบ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484มาตรา 74 แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์และฎีกาปัญหานี้ แต่เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

Share