คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3609/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำให้การของจำเลยที่ 3 ได้ระบุชื่อจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 โดย ธ.ผู้รับมอบอำนาจ และ ธ.ลงชื่อในคำให้การว่าผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 3 ส่วนหนังสือมอบอำนาจท้ายคำให้การมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 3 ขอมอบอำนาจให้ ธ.กระทำกิจการแทนจนเสร็จสิ้น แม้ในคำให้การข้อ 1 จะใช้คำว่าเข้าเป็นจำเลยที่ 3 แทนผู้มอบอำนาจในคดีนี้ ก็มีความหมายเพียงให้ดำเนินคดีแทนในฐานะผู้รับมอบอำนาจเท่านั้น นอกจากนี้ที่หนังสือมอบอำนาจได้ระบุกิจการบางอย่างซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 บัญญัติห้ามไว้ ก็เป็นเพียงทำให้ผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจกระทำกิจการบางอย่างเท่านั้น หาเป็นผลทำให้หนังสือมอบอำนาจเสียไปทั้งหมดไม่การมอบอำนาจจึงสมบูรณ์ใช้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บิดาโจทก์และโจทก์กับบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้เช่าอาคารพาณิชย์และแผงลอย ได้แต่งตั้งจำเลยทั้งหกเป็นกรรมการกองทุนร่วมและเข้าเป็นหุ้นส่วนซื้อตลาดจากเจ้าของเดิมในราคา ๔๖,๕๐๐,๐๐๐ บาท บิดาโจทก์ร่วมลงทุน ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาทแล้วโอนสิทธิและหน้าที่ทั้งปวงให้โจทก์ เมื่อซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์ตลาดมาแล้วจำเลยมีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ แต่จำเลยจะโอนให้เพียงที่ดินบริเวณแนวผนังตึกตัวอาคารเท่านั้น ส่วนที่ดินตรงแนวชายคาตลอดแนวที่ยื่นออกมาตามโครงสร้างเดิมไม่ยอมโอนให้ โจทก์และผู้ร่วมลงทุนอื่นๆ ไปร้องเรียนต่อทางจังหวัด ทางราชการจึงตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นชี้ขาด คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่าได้ปักหลักเขตตรงบริเวณชายคาของตัวตึก สภาพใต้ชายคาเป็นอย่างไรให้คงสภาพเดิม และต้องไปจดทะเบียนภารจำยอมไว้ในโฉนด แต่จำเลยทั้งหกไม่ยอมปฏิบัติตาม โจทก์มีหนังสือเตือนให้ปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าว แต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉย จึงขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตัวอาคารพาณิชย์ให้แก่โจทก์ โดยปักหลักหมุดแสดงกรรมสิทธิ์ตรงบริเวณพื้นดินใต้ชายคาตึก และไปจดทะเบียนภารจำยอมไว้ในโฉนดหากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นเครื่องแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยที่ ๑, ๒, ๔, ๕ และ ๖ ยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นรับคำให้การ
จำเลยที่ ๓ ยื่นคำให้การว่า จำเลยที่ ๓ มอบอำนาจให้นายธรรมรัตน์ เครือศิริยงค์ เข้าเป็นจำเลยในคดีนี้แทน ตามหนังสือมอบอำนาจท้ายคำให้การ ศาลชั้นต้นสั่งว่า เป็นกรณีที่จำเลยที่ ๓ มอบอำนาจให้เข้าเป็นจำเลยที่ ๓ แทน การมอบอำนาจจึงขัดกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นโมฆะ ไม่รับคำให้การ
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าข้อความในหนังสือมอบอำนาจมีความหมายว่าให้ผู้รับมอบอำนาจเข้าดำเนินคดีนี้แทนจำเลยที่ ๓ การมอบอำนาจจึงใช้ได้ พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำให้การของจำเลยที่ ๓ ให้ศาลชั้นต้นรับคำให้การของจำเลยที่ ๓ ไว้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำให้การของจำเลยที่ ๓ ได้ระบุชื่อจำเลยที่ ๓ โดยนายธรรมรัตน์ เครือศิริยงค์ ผู้รับมอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจลงชื่อในคำให้การว่า ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ ๓ ตามหนังสือมอบอำนาจท้ายคำให้การมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ ๓ขอมอบอำนาจให้แก่นายธรรมรัตน์ เครือศิริวัฒน์ เพื่อกระทำกิจการแทนจนเสร็จสิ้น และขอรับผิดชอบตามที่ผู้ได้รับมอบได้กระทำไปในทางการที่ได้รับมอบอำนาจทุกประการ แสดงถึงความประสงค์ของจำเลยที่ ๓ ว่า มอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนเท่านั้น เพราะการที่จะเป็นจำเลยแทนได้ ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗(๒) และศาลอนุญาตแล้ว ที่ระบุไว้ในคำให้การข้อ ๑ และหนังสือมอบอำนาจว่า เข้าเป็นจำเลยที่ ๓ แทน จึงมีความหมายเพียงให้ดำเนินคดีแทนในฐานะผู้รับมอบอำนาจเท่านั้น หนังสือมอบอำนาจจึงใช้ได้ ส่วนที่ได้ระบุกิจการบางอย่างที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๖๐ บัญญัติห้ามไว้ในหนังสือมอบอำนาจ ก็เป็นเพียงทำให้ผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจกระทำกิจการบางอย่างเท่านั้นไม่เป็นผลให้หนังสือมอบอำนาจเสียไปทั้งหมด
พิพากษายืน

Share