คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3604/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ให้สิทธิแก่จำเลยที่จะฟ้องแย้งเข้ามาในคำให้การได้ ถ้าข้ออ้างตามฟ้องแย้งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมแล้ว ศาลย่อมจะต้องรับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณา เมื่อโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 178 แล้วย่อมเกิดประเด็นข้อพิพาทที่จะนำไปสู่ประเด็นแห่งคดีที่ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดให้คู่ความแพ้หรือชนะกัน ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131(2)และมาตรา 133 บัญญัติไว้ ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องของโจทก์แล้ววินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องแย้งของจำเลยร่วมที่ 2 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แล้ว โจทก์และจำเลยร่วมที่ 2 มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้นต่อไปได้ ตามมาตรา 223 ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจหน้าที่จะต้องชี้ขาดตัดสินอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยร่วมที่ 2 ตามประเด็นแห่งคดีที่คู่ความได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ดังที่มาตรา 131(2) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ มาตรา 240 บัญญัติไว้ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์แล้วเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นถูกต้อง แต่ไม่วินิจฉัยในประเด็นข้ออุทธรณ์ของจำเลยร่วมที่ 2 โดยอ้างว่า เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ ทำให้ฟ้องแย้งของจำเลยร่วมที่ 2 ต้องตกไป จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ เพราะไม่เข้ากรณีที่ศาลจะไม่ต้องวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเรื่องนั้นตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 บัญญัติไว้และไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดสนับสนุนคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เช่นนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายพานิชและจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินและโอนการจัดสรรที่ดินสองแปลงเนื้อที่รวม 55 ไร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ในราคา 25,000,000 บาทนายพานิชได้จำนองที่ดินดังกล่าวไว้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด นายพานิชได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและทำนิติกรรมโอนขายในนามของนายพานิชได้ โจทก์ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารกรุงไทย จำกัด แล้วนายพานิชได้โอนให้แก่บริษัทอุดมสุข จำกัด ตามที่โจทก์ร้องขอ ต่อมาเมื่อเดือนมกราคม 2521 นายพานิชกับจำเลยที่ 1 ได้แจ้งยกเลิกหนังสือมอบอำนาจที่มอบอำนาจให้โจทก์มีอำนาจจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินทั้งบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ นายพานิชและจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องขับไล่โจทก์ให้ออกจากที่ดินจัดสรรต่อศาลชั้นต้น ผลคดีศาลฎีกาพิพากษาว่าโจทก์ไม่ผิดสัญญา นายพานิชและจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเลิกสัญญาให้ยกฟ้อง หลังจากศาลฎีกาพิพากษาแล้ว โจทก์ได้ติดต่อให้นายพานิชปฏิบัติตามสัญญาแต่ปรากฏว่านายพานิชถึงแก่ความตายไปแล้ว จำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทจึงต้องร่วมกันรับผิดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าปฏิบัติตามสัญญา โดยให้จำเลยทั้งห้าโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามบัญชีโฉนดที่ดินท้ายคำฟ้องเอกสารหมายเลข 7 ให้แก่โจทก์เพื่อดำเนินการจัดสรรต่อไป หากจำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและหากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับ ให้จำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 260,950,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งห้าให้การว่า นายพานิช วัฒนานันท์ ถึงแก่ความตายแล้ว ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 มิได้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับการจัดการมรดกของนายพานิชแต่อย่างใด นายพานิชและจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามสัญญาจะขายที่ดินและโอนการจัดสรรที่ดินตามสัญญาให้แก่โจทก์แต่โจทก์ชำระค่าที่ดินไม่ครบถ้วนตามสัญญานายพานิชได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 18,538,311 บาท แต่โจทก์เพิกเฉยนายพานิชจึงเพิกถอนหนังสือมอบอำนาจ และฟ้องขับไล่โจทก์ แต่ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง หลังจากศาลฎีกาพิพากษาแล้ว โจทก์มิได้เสนอชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือต่อนายพานิชหรือผู้จัดการมรดก จำเลยทั้งห้าจึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องโอนที่ดินให้แก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง

โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางนิรมล วัฒนานันท์ และนางสาวพรสวรรค์วัฒนานันท์ ผู้จัดการมรดกของนายพานิชเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและเรียกนางนิรมลว่า จำเลยร่วมที่ 1 เรียกนางสาวพรสวรรค์ว่า จำเลยร่วมที่ 2

จำเลยร่วมทั้งสองให้การทำนองเดียวกับจำเลยทั้งห้าและฟ้องแย้งว่า การที่โจทก์นำที่ดินไปโอนขายแก่ผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากนายพานิช หรือจำเลยที่ 1 และรับเงินไว้แต่เพียงผู้เดียว โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา การที่โจทก์ขายที่ดินจัดสรรที่แบ่งแยกจากโฉนดดังกล่าวแล้วไม่นำเงินที่ได้มาชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือแก่นายพานิชทำให้จำเลยร่วมทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอคิดค่าเสียหายเท่ากับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากเงินทุนที่ค้างชำระจำนวน 18,538,311 บาท นับแต่วันที่ทนายความของนายพานิชแจ้งให้โจทก์ทราบ คือวันที่ 5 มิถุนายน 2522 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 10 ปีเศษจำเลยร่วมขอคิดเพียง 10 ปี เป็นเงิน 3,903,733.25 บาท ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชำระราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 26195 จำนวน 150,900,000 บาท ค่าเสียหายจำนวน13,903,733.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวนนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่จำเลยร่วมทั้งสอง

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า การโอนที่ดินมาเป็นของโจทก์เป็นการโอนตามสัญญาและโจทก์มีอำนาจขายที่ดินแปลงนี้ต่อไปได้ จำเลยร่วมทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าที่ดินแปลงนี้ครึ่งหนึ่งตามฟ้องแย้ง สำหรับราคาที่ดินตามสัญญานั้น โจทก์ได้ชำระแก่นายพานิชและจำเลยที่ 1 แล้วบางส่วน และนายพานิชขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเกินกว่าราคาที่แจ้งไว้แก่โจทก์ จึงคงเหลือเงินที่ค้างชำระจำนวน 9,445,802.15 บาท มิใช่ 18,538,311 บาท และไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากเงินดังกล่าว หากมีสิทธิเรียกก็ไม่เกิน 5 ปี ฟ้องแย้งเรียกราคาที่ดินที่เหลือขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์และจำเลยที่ 1 เด็ดขาดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงเข้าดำเนินคดีแทน ส่วนจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และสั่งให้จำเลยร่วมที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายพานิชแต่ผู้เดียว

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลยร่วม (ที่ 2)

โจทก์และจำเลยร่วมที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์และจำเลยร่วมที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “… ฎีกาของจำเลยร่วมที่ 2 ซึ่งโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและศาลพิพากษายกฟ้องแล้ว ฟ้องแย้งของจำเลยร่วมที่ 2 ต้องตกไป เพราะการฟ้องแย้งนั้นจะมิได้ต้องมีฟ้องเดิมและตัวโจทก์เดิมอยู่ด้วย เมื่อฟ้องแย้งตกไปแล้วจึงไม่ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยร่วมที่ 1 นั้น เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบเพราะแม้ฟ้องโจทก์จะต้องถูกพิพากษายกฟ้อง แต่ฟ้องแย้งของจำเลยและอุทธรณ์ตามฟ้องแย้งของจำเลยร่วมที่ 2 ยังมีอยู่ศาลอุทธรณ์จึงต้องวินิจฉัยให้นั้นศาลฎีกาเห็นว่า ในปัญหาข้อนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177วรรคสาม บัญญัติว่า จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก มาตรา 178 บัญญัติว่า ถ้าจำเลยฟ้องแย้งมาในคำให้การ ให้โจทก์ทำคำให้การแก้ฟ้องแย้งยื่นต่อศาลภายใน15 วัน นับแต่วันที่ได้ส่งคำให้การถึงโจทก์… ส่วนมาตรา 131 บัญญัติว่า คดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลนั้น ให้ศาลปฏิบัติดังนี้…(2) ในเรื่องประเด็นแห่งคดี ให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดโดยทำเป็นคำพิพากษา… มาตรา 132 บัญญัติว่า ให้ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้โดยไม่ต้องวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเรื่องนั้น…(1) เมื่อโจทก์ทิ้งฟ้องหรือถอนฟ้อง…(2) เมื่อโจทก์ไม่หาประกันมาให้…หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายขาดนัด…(3) ถ้าความมรณะของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังให้คดีนั้นไม่มีประโยชน์ต่อไป หรือไม่มีคู่ความฝ่ายใดเข้ามาแทนที่คู่ความฝ่ายที่มรณะ…(4) เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีรวมกันหรือให้แยกกัน ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องโอนคดีไปยังอีกศาลหนึ่ง…มาตรา 133 บัญญัติว่า เมื่อศาลมิได้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความดังที่บัญญัติไว้ในมาตราก่อน ให้ศาลชี้ขาดคดีนั้นโดยทำเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งในวันที่สิ้นการพิจารณา… ดังนี้เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสามให้สิทธิแก่จำเลยที่จะฟ้องแย้งเข้ามาในคำให้การได้ ในกรณีที่ข้ออ้างตามฟ้องแย้งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมแล้ว ศาลย่อมจะต้องรับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณา เมื่อโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 178 แล้ว ย่อมเกิดประเด็นข้อพิพาทที่จะนำไปสู่ประเด็นแห่งคดีที่ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดให้คู่ความแพ้หรือชนะกัน ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 131(2) มาตรา 133 บัญญัติไว้ ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องของโจทก์แล้ววินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องแย้งของจำเลยร่วมที่ 2 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังกล่าวแล้ว โจทก์และจำเลยร่วมที่ 2 มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้นต่อไปได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจหน้าที่จะต้องชี้ขาดตัดสินอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยร่วมที่ 2 ตามประเด็นแห่งคดีที่คู่ความได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131(2) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 240 บัญญัติไว้ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นนั้นถูกต้อง แต่ไม่วินิจฉัยในประเด็นข้ออุทธรณ์ของจำเลยร่วมที่ 2 โดยอ้างว่า เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องศาล (จะต้อง) พิพากษายกฟ้องโจทก์แล้ว ฟ้องแย้งของจำเลยร่วมที่ 2 ต้องตกไป จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ เพราะไม่เข้ากรณีที่ศาลจะไม่ต้องวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเรื่องนั้นตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 บัญญัติไว้และไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดสนับสนุนคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เช่นนั้น เมื่อคดีปรากฏเหตุที่ศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิพากษาดังกล่าว หากศาลฎีกาจะย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ย่อมเกิดความล่าช้าจากกระบวนพิจารณาพิพากษาคดี อาจส่งผลเสียหายแก่คู่ความเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นได้ ศาลฎีกาจึงเห็นควรวินิจฉัยประเด็นข้ออุทธรณ์ของจำเลยร่วมที่ 2 ให้ไป โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดคดีใหม่ที่จำเลยร่วมที่ 2อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การที่โจทก์เอาที่ดินโฉนดเลขที่ 26195 ของนายพานิชไปโอนขาย โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนายพานิชและจำเลยที่ 1 เป็นการผิดสัญญานั้น ศาลฎีกาเห็นว่าในประเด็นข้อนี้นายพานิชและจำเลยที่ 1 ได้กล่าวอ้างเป็นประเด็นในการฟ้องโจทก์มาแล้ว ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1566/2526 ของศาลชั้นต้นซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยคดีเป็นที่สุดแล้วว่าข้อกล่าวอ้างตามคำฟ้องดังกล่าวนั้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์ผิดสัญญา ดังนี้คำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีดังกล่าวจึงผูกพันนายพานิชและจำเลยที่ 1 ฉะนั้น จำเลยร่วมที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพานิชย่อมผูกพันตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวด้วย ดังนั้น การที่จำเลยร่วมที่ 2 นำเหตุอย่างเดียวกัน ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยถึงที่สุดแล้วมารื้อฟ้องแย้งโจทก์เป็นคดีนี้กันขึ้นอีก จึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ปัญหาดังกล่าวนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยร่วมที่ 2 ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยในผล”

พิพากษายืน

Share