คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3604/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 จะมิได้บัญญัติถึงการริบรถยนต์ของกลางที่ใช้ในการกระทำผิดไว้โดยเฉพาะ แต่ถ้าได้ความว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด ศาลก็มีอำนาจสั่งให้ริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) อันเป็นบทบัญญัติในภาค 1 ซึ่งสามารถนำมาใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นได้ตามมาตรา 17 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกทรายมีน้ำหนักเกินกำหนด อันเป็นความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 56, 83 และขอให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิดด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ต้องถือว่ารถยนต์บรรทุกของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด และศาลมีอำนาจสั่งให้ริบได้
การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกน้ำหนักเกินอัตราเป็นจำนวนมาก มีส่วนทำให้ถนนหลวงชำรุดเสียหาย รัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบูรณะซ่อมแซมเป็นจำนวนมากนั้น ก็โดยอาศัยพฤติการณ์แห่งคดีตามที่ได้ความจากคำฟ้อง คำรับสารภาพของจำเลยและข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่ว ๆ ไป มาประกอบดุลพินิจในการสั่งริบของกลางนั่นเอง หาใช่เป็นการพิจารณาข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแต่ศาลชั้นต้นไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ขอให้ลงโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ข้อ ๕๖, ๘๓ ประกาศผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษ เรื่อง ห้ามใช้ยานพาหนะโดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าที่ได้กำหนดเดินบนทางหลวงพิเศษ ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๕ ข้อ ๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ และขอให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ข้อ ๕๖, ๘๓ จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑ เดือน ของกลางยังไม่สมควรริบ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลาง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวมิได้บัญญัติถึงการริบรถยนต์ของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิดไว้โดยเฉพาะ แต่ถ้าได้ความว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดแล้ว กรณีก็ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ (๑) อันเป็นบทบัญญัติในภาค ๑ ซึ่งสามารถนำมาใช้บังคับได้ตามมาตรา ๑๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ส่วนที่จำเลยฎีกา ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่สามารถเห็นได้ชัดแจ้งว่ารถยนต์บรรทุกของกลางเป็นทรัพย์ที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ทั้งไม่เป็นทรัพย์สินที่จะริบได้ตามกฎหมายอื่นหรือตามประมวลกฎหมายอาญานั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ๘๑ – ๓๐๘๐ นครปฐม บรรทุกทรายมีน้ำหนักเกินกว่าข้อกำหนดของผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษ อันเป็นความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ข้อ ๕๖, ๘๓ และขอให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิดด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ต้องถือว่ารถยนต์บรรทุกของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจสั่งริบได้ดังวินิจฉัยข้างต้น และที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยใช้รถยนต์บรรทุกน้ำหนักเกินอัตราเป็นจำนวนมาก มีส่วนทำให้ถนนชำรุดเสียหาย รัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบูรณะซ่อมแซมเป็นจำนวนมาก นั้น เป็นการพิจารณาข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแต่ศาลชั้นต้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์สั่งริบรถยนต์ของกลางก็โดยอาศัยพฤติการณ์แห่งคดีตามที่ได้ความจากคำฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลย และข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปมาประกอบดุลพินิจในการสั่งนั่นเอง คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share