คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 360/2563

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทตามคำให้การของจำเลยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ และมิได้หยิบยกประเด็นข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยในคำพิพากษาเพื่อตัดฟ้องโจทก์ จึงมีผลเท่ากับว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เป็นการสมประโยชน์แก่โจทก์ผู้ฟ้องคดี เมื่อจำเลยมิได้ยกประเด็นนี้ขึ้นโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์ ประเด็นข้อพิพาทว่าฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ทั้งปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่คู่ความจะมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหานี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง, 252 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค มาตรา 51 ดังนั้น แม้โจทก์จะได้รับอนุญาตให้ฎีกา แต่เมื่อเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคก็ไม่อาจวินิจฉัยได้
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เปิดบัญชีเงินฝากและฝากเงินไว้กับธนาคาร ศ. รวม 10 บัญชี ต่อมาธนาคาร ศ. ทำการทุจริตถอนเงินจากบัญชีเงินฝากทั้งสิบบัญชีโดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม จำเลยต่อสู้ว่า ธนาคาร ศ. ไม่ได้ถอนเงินจากบัญชีทั้งสิบของโจทก์โดยทุจริต แต่โจทก์เบิกถอนเงินเองโดยโอนเงินไปยังบัญชีอื่น เพื่อหักชำระหนี้ที่โจทก์มีต่อธนาคารดังกล่าวและยังสั่งจ่ายเช็คเบิกถอนเงินออกจากบัญชี โจทก์มอบสมุดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารดังกล่าวโดยยินยอมให้นำเงินในบัญชีไปหักชำระหนี้ที่มีต่อธนาคารดังกล่าวได้ โจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ตรวจสอบมีรายการถอนเงินที่มีอย่างต่อเนื่อง เมื่อธนาคาร ศ. ผู้รับฝากเงินและทำธุรกรรมทางการเงินกับโจทก์ ส่วนธนาคาร น. และธนาคาร ธ. เป็นผู้รับโอนกิจการต่างเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับฝากเงินจากประชาชน ดังนั้น ขั้นตอนการให้บริการ เกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน การบันทึกหลักฐานการรับฝากเงินและเบิกถอนเงิน ตลอดจนการทำหลักฐานทางด้านบัญชีในการโอนกิจการระหว่างธนาคารดังกล่าว จึงเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นโดยตรงของฝ่ายจำเลย จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 451,972,265.83 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 221,873,561.45 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อแรกว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องฟ้องเคลือบคลุมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทตามคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็มิได้หยิบยกประเด็นข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยเพื่อตัดฟ้องโจทก์ กรณีจึงมีผลเท่ากับว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมอันเป็นการสมประโยชน์แก่โจทก์ที่นำคดีมาฟ้องอยู่แล้ว ทั้งในชั้นอุทธรณ์จำเลยก็มิได้ยกประเด็นนี้ขึ้นโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าไม่ชอบอย่างไร ประเด็นข้อพิพาทว่าฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ทั้งไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่คู่ความจะมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหานี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง, 252 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค มาตรา 51 ปัญหานี้แม้โจทก์จะได้รับอนุญาตให้ฎีกา แต่เมื่อเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคก็ไม่อาจวินิจฉัยได้
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อต่อไปว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดภาระพิสูจน์และหน้าที่นำสืบตกแก่โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เปิดบัญชีเงินฝากและฝากเงินไว้กับธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) รวม 10 บัญชี ต่อมา ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) กระทำการทุจริตถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวทั้งสิบบัญชีโดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย จำเลยต่อสู้คดีว่า ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ถอนเงินจากบัญชีทั้งสิบของโจทก์โดยทุจริต แต่โจทก์เบิกถอนเงินเองโดยการโอนเงินไปยังบัญชีอื่น เพื่อหักชำระหนี้ที่โจทก์มีต่อธนาคารดังกล่าวและสั่งจ่ายเช็คของโจทก์เพื่อเบิกถอนเงินออกจากบัญชี โจทก์มอบสมุดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์มีภาระหนี้กับธนาคารดังกล่าวโดยยินยอมให้นำเงินในบัญชีมาหักชำระหนี้ได้ โจทก์อ้างว่าฝากเงินต่อเนื่องเป็นเวลา 8 ปี ไม่เคยถอนเงิน แต่มีรายการถอนเงินอย่างต่อเนื่อง โจทก์ไม่ตรวจสอบเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ เห็นว่า ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) จำเลยต่างเป็นผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรับฝากเงินแก่ประชาชนเป็นการทั่วไป โดยธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับฝากเงินและทำธุรกรรมทางการเงินโดยตรงกับโจทก์ตั้งแต่ช่วงปี 2534 ถึงปี 2540 ส่วนธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับโอนกิจการมา ดังนี้ขั้นตอนการให้บริการด้านสมุดเงินฝาก งานบัญชี ธุรกรรมทางการเงิน รวมทั้งวิธีการบันทึกหลักฐานการรับฝากเงินและเบิกถอนเงิน ตลอดจนการทำหลักฐานเอกสารด้านบัญชีการโอนกิจการระหว่างธนาคารดังกล่าว จึงเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นโดยตรงของฝ่ายจำเลย ที่จำเลยต่อสู้คดีว่าโจทก์เบิกถอนเงินเองโดยโอนไปยังบัญชีอื่นเพื่อหักชำระหนี้ที่โจทก์มีต่อธนาคารดังกล่าวและสั่งจ่ายเช็คของโจทก์เพื่อเบิกถอนเงินออกจากบัญชี และเป็นการหักชำระหนี้ที่โจทก์มีต่อธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) นั้นจำเลยย่อมมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดภาระการพิสูจน์และหน้าที่นำสืบตกแก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
สำหรับประเด็นความรับผิดของจำเลยนั้น เห็นว่า พยานจำเลยทั้งสองปากเป็นพนักงานธนาคารมีหน้าที่โดยตรงในการดูแลบัญชีของลูกค้า คำเบิกความของพยานทั้งสองเป็นการเบิกความในหน้าที่ประจำที่ทำอยู่ตามขั้นตอนงานบัญชี ตรงตามเอกสารของฝ่ายจำเลยทุกฉบับ จึงมีความน่าเชื่อถือที่จะรับฟัง นอกจากนี้จำเลยมีต้นฉบับเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายเพื่อเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของโจทก์ตามเช็คเงินสดมายืนยันอันบ่งชี้ได้ว่าจำเลยเบิกถอนเงินตามคำสั่งของโจทก์ หาใช่เป็นกรณีที่จำเลยเบิกถอนเงินของโจทก์ออกไปโดยทุจริตไม่ ทั้งนายธวัชชัยยังเบิกความยืนยันว่าโจทก์ถอนเงินสดและขอให้โอนเงินในบัญชีของโจทก์ไปยังบัญชีบริษัทซี.วี. ดับบลิว จำกัด และบริษัทพีรกานต์แมนชั่น จำกัด ที่โจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ พยานหลักฐานของจำเลยดังกล่าวข้างต้นแสดงได้ว่าธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ได้เบิกถอนเงินสดของโจทก์ไปโดยชอบ ส่วนพยานโจทก์ โจทก์อ้างตนเองเบิกความเฉพาะรายการฝากเงินในส่วนที่เป็นรายการฝากเงินของตัวโจทก์เอง แต่รายการเบิกถอนเงินสด โอนเงินสด โอนหักบัญชีตามพยานเอกสารของจำเลย ที่ทนายจำเลยถามค้าน โจทก์ตอบคำถามค้านทำนองว่าไม่รู้ ไม่รับรอง ไม่ยืนยันลายมือชื่อ ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ทำเองฝ่ายเดียวโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นหักล้างพยานเอกสารของจำเลยและเป็นการขัดแย้งกับเอกสารของจำเลย อีกประการหนึ่งโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการกู้เงินกับธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) เพื่อทำธุรกิจมีเงินหมุนเวียนหลายร้อยล้านบาท แต่เมื่อเงินในบัญชีของโจทก์ที่อ้างว่าถูกถอนออกไปจากบัญชีทั้งสิบบัญชีตั้งแต่ช่วงปี 2534 ถึง 2541 โจทก์กลับไม่ได้ตรวจสอบยอดเงินที่หายไปจำนวนมาก จนระยะเวลาล่วงเลยมากว่า 10 ปี จึงมาติดตามทวงถาม นับเป็นการผิดวิสัยผู้ประกอบธุรกิจที่มีเงินทุนหมุนเวียนจำนวนมาก ข้อนำสืบของโจทก์จึงเลื่อนลอยขาดน้ำหนักที่จะรับฟัง พยานหลักฐานจำเลยจึงมีน้ำหนักการรับฟังยิ่งกว่า ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่า รายการเบิกถอนเงินของจำเลยออกจากบัญชีทั้งสิบของโจทก์ จำเลยได้ทำรายการเบิกถอนเงินสดจากบัญชีทั้งสิบของโจทก์โดยถูกต้อง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินฝากตามฟ้องแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
สำหรับฎีกาของจำเลยในประเด็นเรื่องอายุความนั้น เห็นว่า เมื่อฎีกาโจทก์ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลคำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ได้ ดังนั้นถึงหากวินิจฉัยฎีกาของจำเลยประเด็นข้อนี้ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยต่อไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share