คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1080/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้ตายทำร้ายแล้วขัดขืนไม่ยอมให้จับ ผู้ตายแกว่งมีดจะแทงผู้เข้าจับ ๆ ถอยล้มลง ผู้ตายจะเข้าแทง ทันใดนั้นจำเลยจะเข้าตีผู้ตาย ๆ ถือมีดจะมาแทงจำเลยผู้เข้าจับคนนั้นจึงตีผู้ตายล้มลงกำลังผู้ตายจะลุกขึ้นจำเลยก็ตีศรีษะอีก 1 ที ถึงตายดังนี้จะเห็นได้ว่าการที่จำเลยตีผู้ตายครั้งหลังขณะที่ล้มอยู่นี้เป็นการกระทำที่เกี่ยวพันกระชั้นชิดกันจึงต้องพิจารณาพฤติการณ์รวมกันไปจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกันใช้ไม้ตีศรีษะนายสุขหลายทีถึงแก่ความตายโดยเจตนาฆ่า ขอให้ลงโทษจำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าการกระทำของนายบัวจำเลย (ตอนท้าย) เมื่อนายสุขถูกนายจันสีจำเลยตีล้มลงแล้ว นายบัวจำเลยยังใช้ไม้ตีหัวซ้ำลงไปอีก ๑ ทีนี้เกินสมควรแก่เหตุ พิพากษาว่านายบัวมีผิดตาม ก.ม.อาญา ม.๒๔๙,๕๐,๕๒,๕๓ และ ๕๙ คงจำคุก ๖ เดือน แต่ให้ปล่อยตัวไปเพราะขังมาพอกับโทษแล้ว ส่วนนายจันสีไม่มีความผิดให้ปล่อยตัวไป
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่านายบัวผู้เดียวมีความผิดตาม ม.๒๔๙,๕๙ คงจำคุก ๗ ปี ๖ เดือน
นายบัวจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยในคดีนี้เป็นการติดต่อเกี่ยวพันกระชั้นชิดโดยตลอด กล่าวคือเมื่อนายสุขผู้ตายขัดขืนไม่ยอมให้จับ นายจันสีจำเลยจึงเบี่ยงเข้าข้างตัวจะจับนายสุขเห็นก็แกว่งมีดจะเข้าแทงนายจันสี ๆ ถอยหลังสดุดคันนาล้ม นายสุขจะเข้าแทงนายจันสี ทันใดนั้น นายบังจำเลยก็เข้าตีนายสุขเสียก่อน นายสุขเซเงื้อมีดจะแทงนายบัวจำเลย นายจันสีจำเลยจึงเข้าตีนายสุขล้มลงกำลังนายสุขจะลุกขึ้นมาอีกก็ถูกนายบัวตีที่ศรีษะอีก ๑ ทีถึงแก่ความตายดังนี้จะเห็นได้ว่าการที่นายบัวจำเลยเข้าตีศรีษะนายสุขครั้งหลังนี้แม้จะเป็นเวลาที่นายสุขล้มอยู่โดยลูกนายจันสีจำเลยตีก็ดี กรณีจะต้องพิจารณาตามพฤติการณ์รวมกันไป และการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการกระทำของนายบัว จำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
จึงพิพากษาแก้ลงโทษนายบัวจำเลยตาม ม.๒๔๙,๕๓,๕๙ ส่วนกำหนดโทษคงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share