คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 360/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีในศาลแขวงได้มีคำสั่งในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวง ฯลฯ มาตรา 22 ว่า “รับเป็นอุทธรณ์โจทก์ร่วม สำเนาให้จำเลยแก้ใน 7 วัน” เพียงเท่านี้ยังไม่ถือว่าผู้พิพากษาผู้นั้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เพราะว่าในคำสั่งมิได้ชี้แจงแสดงเหตุผลว่า ข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และมีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ได้

ย่อยาว

ผู้ว่าคดีศาลแขวงสุรินทร์ฟ้องว่า จำเลยได้ขับรถยนต์โดยสารสาธารณะโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนนายญาติได้รับอันตรายแก่กายสาหัสถึงทุพพลภาพ ขอให้ลงโทษ
จำเลยให้การปฏิเสธ
นายญาติ ประคองดี ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วม ศาลสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยมิได้ขับรถยนต์โดยประมาท พิพากษายกฟ้อง
นายญาติ ประคองดี โจทก์ร่วม อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า รับเป็นอุทธรณ์โจทก์ร่วมสำเนาให้จำเลยแก้ใน ๗ วัน
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และคดีนี้ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริง พิพากษายกอุทธรณ์
โจทก์ร่วมฎีกาว่าคดีนี้ผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นเป็นผู้สั่งฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมว่า รับเป็นอุทธรณ์โจทก์ร่วม สำนาให้จำเลยแก้ใน ๗ วัน ย่อมถือได้ว่าได้รับรองให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวง ฯลฯ มาตรา ๒๒ ทวิ บัญญัติว่า “ในคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๒ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากาาหรือทำความเห็นแย้งในศาลแขวงพิเคราะห์เห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ หรือ ฯลฯ ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป” ตามบทบัญญัติดังกล่าว ผู้พิพากษาที่จะอนุญาตให้อุทธรณ์จะต้องเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และมีคำสังอนุญาตให้อุทธรณ์จึงจะรับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไปได้ แต่คดีนี้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นผู้พิจารณาคดีนี้มีคำสั่งแต่เพียงว่า รับเป็นอุทธรณ์โจทก์ร่วม สำเนาให้จำเลยแก้ใน ๗ วันเท่านั้น มิได้ชี้แจงแสดงเหตุผลว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และมีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์แต่อย่างใด ฉะนั้น จึงบังคับไม่ได้ว่าผู้พิพากษาศาลชั้นต้นผู้พิจารณาคดีนี้มีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
พิพากษายืน

Share