คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3599/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ลูกจ้างมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีในขณะปฏิบัติหน้าที่ แม้นายจ้างไม่มีคำสั่งข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานห้ามไว้ ถ้าลูกจ้างฝ่าฝืนกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ก็ต้องถือว่าลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานแล้ว โจทก์ด่าว่าส.ซึ่งเป็นยามขณะที่ส. ปฏิบัติการตามหน้าที่เป็นการกระทำผิดอาญาฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าย่อม ถือว่าโจทก์ได้กระทำผิดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการ ทำงานแล้ว แม้จะไม่มีคำสั่ง ข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานห้ามไว้ จำเลยจึงมีสิทธิลงโทษโจทก์โดยตักเตือนเป็น หนังสือ เมื่อโจทก์ได้ด่าว่าส. อีกจึงถือได้ว่าโจทก์ได้กระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้อง จ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครอง แรงงานข้อ 47(3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2536 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2,415 บาทและค่าชดเชย 10,350 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2532 เวลา 17.15 นาฬิกาซึ่งเป็นเวลาเลิกงาน โจทก์ออกจากบริเวณโรงงานของจำเลยต้องให้ความร่วมมือในการตรวจค้นของพนักงานรักษาความปลอดภัยตามคำสั่งของจำเลย แต่โจทก์กลับไม่ให้ความร่วมมือทั้งยังแสดงกิริยาก้าวร้าวด่าคำหยาบ ดูหมิ่นเหยียดหยามและข่มขู่จะให้ผู้อื่นมาทำร้ายพนักงานรักษาความปลอดภัย โจทก์ซึ่งเคยกระทำมาแล้วในวันที่5 และวันที่ 8 มีนาคม 2536 เวลา 7.25 นาฬิกา จำเลยเคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือแล้วเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2536 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย และจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินค้าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าชดเชย 10,350 บาท แก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่าเมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงจากรายงานทั้งสองฉบับของนายสันติว่าโจทก์ด่าว่านายสันติจริง ตามรายงานฉบับแรกโจทก์ถูกลงโทษโดยจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว หลังจากนั้นโจทก์ด่าว่านายสันติ อีกซึ่งตามรายงานฉบับหลังได้ระบุถ้อยคำที่โจทก์ด่าไว้ด้วยจึงถือได้ว่าโจทก์กระทำผิดอาญาฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าในบริเวณโรงงาน จำเลยย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะลงโทษโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยได้ เพราะเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของลูกจ้างที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรมอันดีในขณะปฏิบัติหน้าที่ แม้นายจ้างไม่มีคำสั่งข้อบังคับหรือระเบียบห้ามไว้ หากลูกจ้างฝ่าฝืนกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ต้องถือว่าลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานที่ไม่มีตัวตนการที่จำเลยมีหนังสือตักเตือนโจทก์ในเรื่องที่ด่าว่านายสันติ จำเลยย่อมมีสิทธิทำได้โดยไม่จำต้องมีคำสั่งหรือระเบียบกำหนดไว้เกี่ยวกับเรื่องการด่ากันเมื่อโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือนในเรื่องเดียว จำเลยย่อมลงโทษเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยศาลฎีกาเห็นว่า หน้าที่ความรับผิดชอบของลูกจ้างตามสัญญาจ้างและตามกฎหมายแพ่งนั้น นอกจากลูกจ้างจะมีหน้าที่ทำงานให้แก่นายจ้างแล้ว ลูกจ้างจะต้องทำงานให้ดีเช่นเดียวกับลูกจ้างทั่วไป เรียกว่าความรับผิดชอบในหน้าที่ถ้าฝ่าฝืนก็จะเป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583บัญญัติไว้ว่า “ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต” ดังนั้น ลูกจ้างจึงมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรมอันดีในขณะปฏิบัติหน้าที่แม้นายจ้างไม่มีคำสั่ง ข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานห้ามไว้ ถ้าลูกจ้างฝ่าฝืนกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ต้องถือว่าลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเกี่ยวกับคดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ด่าว่านายสันติซึ่งเป็นยามขณะที่นายสันติปฏิบัติการตามหน้าที่ตามรายงานฉบับแรก ย่อมถือว่าโจทก์ได้กระทำผิดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแล้วจำเลยจึงมีสิทธิลงโทษโจทก์โดยตักเตือนเป็นหนังสือ เมื่อโจทก์ได้ด่าว่านายสันติอีก จึงถือได้ว่าโจทก์ได้กระทำผิดซ้ำคำเตือนจำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3)ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอโจทก์ที่ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share