แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ลูกจ้างมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรมอันดีในขณะปฏิบัติหน้าที่แม้นายจ้างไม่มีคำสั่ง ข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานห้ามไว้ ถ้าลูกจ้างฝ่าฝืนกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีดังกล่าว ต้องถือว่าลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน ฉะนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยด่าว่า ส.ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยโรงงานของจำเลยขณะที่ ส.ปฏิบัติหน้าที่ย่อมถือว่าโจทก์ได้กระทำผิดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแล้ว จำเลยมีสิทธิลงโทษโจทก์โดยตักเตือนเป็นหนังสือ เมื่อโจทก์ได้ด่าว่า ส. อีก จึงถือได้ว่าโจทก์ได้กระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2,415 บาท และค่าชดเชย 10,350 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์กระทำผิดฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าขอพิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าวันที่ 5 มีนาคม 2536 โจทก์เข้าทำงานโดยนำกระเป๋าและถุงขนมฝากไว้ที่ป้อมยาม หลังจากเลิกงานโจทก์กลับมาเอากระเป๋าและถุงขนม พบกระเป๋าถูกรื้อค้น โจทก์ด่าว่านายสันติ ยาทองทิพย์ ซึ่งเป็นยามในเรื่องที่กระเป๋าของโจทก์ถูกรื้อค้น วันที่ 8 มีนาคม 2536 เวลาเช้าตอนเข้าทำงานโจทก์ด่าว่านายสันติอีก นายสันติทำบันทึกรายงานนางอรอนงค์หัวหน้าแผนกบุคคลของจำเลย นางอรอนงค์เรียกโจทก์มาสอบถามได้ความว่าโจทก์ด่าว่านายสันติจริง นางอรอนงค์จึงลงโทษโจทก์โดยตักเตือนเป็นหนังสือ หลังจากเลิกงานโจทก์ด่าว่านายสันติอีก วันที่ 9 มีนาคม 2536 นายสันติทำบันทึกรายงานเสนอนางอรอนงค์ วันที่ 11 มีนาคม 2536 จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยที่จำเลยเคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือแล้ว การที่โจทก์กลับมาด่าว่านายสันติอีกจึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย แต่รูปคดีฟังไม่ได้ว่าโจทก์กระทำผิดคำสั่งหรือข้อบังคับการทำงานของจำเลยซ้ำคำเตือน เพราะครั้งแรกที่จำเลยมีหนังสือเตือนโจทก์นั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยมีคำสั่งระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยกำหนดไว้เกี่ยวกับเรื่องการด่ากันไว้แต่อย่างใด ด้วยเหตุดังกล่าวเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิได้ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46แต่ไม่มีสิทธิได้ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินชดเชย 10,350 บาทแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลฎีกาเห็นว่า หน้าที่ความรับผิดชอบของลูกจ้างตามสัญญาจ้างและตามกฎหมายแพ่งนั้นนอกจากลูกจ้างจะมีหน้าที่ทำงานให้แก่นายจ้างแล้ว ลูกจ้างจะต้องทำงานให้ดีเช่นเดียวกับลูกจ้างทั่วไป เรียกว่าความรับผิดชอบในหน้าที่ ถ้าฝ่าฝืนก็จะเป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 บัญญัติไว้ว่า “ไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต” ดังนั้น ลูกจ้างจึงมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรมอันดีในขณะปฏิบัติหน้าที่แม้นายจ้างไม่มีคำสั่งข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานห้ามไว้ ถ้าลูกจ้างฝ่าฝืนกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ต้องถือว่าลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน เกี่ยวกับคดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ด่าว่า นายสันติซึ่งเป็นยามขณะที่นายสันติปฏิบัติการตามหน้าที่ตามรายงานฉบับแรก ย่อมถือว่าโจทก์ได้กระทำผิดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิลงโทษโจทก์โดยตักเตือนเป็นหนังสือ เมื่อโจทก์ได้ด่าว่านายสันติอีกจึงถือได้ว่าโจทก์ได้กระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอโจทก์ที่ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง