คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3594/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างทำหน้าที่เลขานุการกรรมการผู้จัดการของนายจ้าง ทำงานวันจันทร์ถึงวันเสาร์ระหว่างเวลา 8.30 นาฬิกาถึง 17 นาฬิกา เป็นประจำและได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน นายจ้างมีคำสั่งให้ลูกจ้างไปทำงานเป็นพนักงานต้อนรับผู้โดยสารบนรถยนต์โดยสารและมีฐานะเป็นลูกจ้างรายวันค่าจ้างวันละ 73 บาท ต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ในวันจันทร์ อังคาร และพุธ ตั้งแต่เวลาประมาณ 9 นาฬิกาถึง 18 นาฬิกาหรือกว่านั้น จึงเป็นคำสั่งเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างอันไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างโดยลูกจ้างมิได้ตกลงยินยอมด้วย คำสั่งจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าลูกจ้างกระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ตำแหน่งเลขานุการกรรมการผู้จัดการ จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่า โจทก์จงใจหรือเจตนาทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม กับออกใบสำคัญแสดงการทำงานแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยมีฐานะไม่มั่นคง จึงดำเนินการทุกวิถีทางให้กิจการคงอยู่ จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์มาช่วยงานต้อนรับผู้โดยสารบนรถยนต์โดยสาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานในหน้าที่ของโจทก์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและโจทก์เป็นผู้มีความสามารถเหมาะสมโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และออกใบสำคัญแสดงการหางานแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์ทำงานกับจำเลยโดยทำหน้าที่เลขานุการกรรมการผู้จัดการของจำเลยในวันจันทร์ถึงวันเสาร์ระหว่างเวลา ๘.๓๐ นาฬิกา ถึง ๑๗ นาฬิกา เป็นประจำและได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ไปเป็นพนักงานต้อนรับผู้โดยสารบนรถยนต์โดยสาร และมีฐานะเป็นลูกจ้างรายวัน วันละ ๗๓ บาท ต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ในวันจันทร์ อังคาร และพุธ ตั้งแต่เวลาประมาณ ๙ นาฬิกาถึง ๑๘ นาฬิกาหรือกว่านั้น คำสั่งของจำเลยจึงเป็นคำสั่งเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างอันไม่เป็นคุณแก่โจทก์โดยโจทก์มิได้ตกลงหรือยินยอมด้วย คำสั่งของจำเลยจึงไม่ขอบด้วยกฎหมายการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จะถือว่าโจทก์กระทำความผิดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหาได้ไม่ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการเลิกจ้างโดบโจทก์ไม่มีความผิด โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยได้
พิพากษายืน

Share