แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาขายลิขสิทธิ์แบบเรียนที่เขียนขึ้นตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ตามข้อสัญญาผู้ซื้อมีสิทธิดัดแปลงแก้ไขหนังสือแบบเรียนด้วยตัวเอง และสามารถพิมพ์จำหน่ายในนามผู้ขายด้วย มิได้มีข้อความแสดงว่าถือเอาหลักสูตรแบบเรียนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ดังนี้เป็นการขายลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาด มิได้มีข้อแม้หรือเงื่อนไขใดๆ ที่จะมีผลให้สัญญาสิ้นความผูกพัน ต่อมาเมื่อกระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้ใช้หลักสูตรใหม่แทน ก็ไม่มีผลให้สัญญาขายลิขสิทธิ์สิ้นความผูกพัน เมื่อผู้ขายลิขสิทธิ์แต่งหนังสือแบบเรียนนี้ขึ้นใหม่ในภายหลัง และมอบให้ผู้อื่นพิมพ์จำหน่าย แม้จะอ้างว่าเป็นการเขียนขึ้นตามหลักสูตรใหม่และเขียนขึ้นกับผู้อื่นด้วย ก็เป็นการผิดสัญญาต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายตามสัญญา
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีเพียงว่า ตามสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ระหว่างจำเลยที่ 1กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 นั้นถือเอาหลักสูตรชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นหมวดวิชาสังคมศึกษา พ.ศ. 2503 เป็นสารสำคัญของสัญญา อันจะมีผลให้เมื่อกระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้ใช้หลักสูตรชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น หมวดสังคมศึกษา พ.ศ. 2520 แล้วเป็นเหตุให้สัญญาตามเอกสารหมาย จ.2 สิ้นความผูกพันระหว่างกันหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2มิได้มีข้อความใดกำหนดให้เห็นว่าการซื้อขายลิขสิทธิ์รายนี้ได้ถือเอาหลักสูตรชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น หมวดวิชาสังคมศึกษา พ.ศ. 2503 เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา หรือหากกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้หลักสูตรชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น หมวดสังคมศึกษาใหม่ขึ้นภายหลังให้ถือว่าสัญญาเอกสารหมาย จ.2 สิ้นความผูกพันแต่ประการใดนอกจากนั้นจำเลยที่ 1 ยังตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า ตามหลักทั่วไปหากกระทรวงศึกษาธิการพบหลักฐานใหม่ทางประวัติศาสตร์ และให้ผู้แต่งแบบเรียนแก้ไขหรือหากมีการเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงหนังสือแบบเรียนหมาย จ.3 ถึง จ.5 ก็เป็นหน้าที่ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 4 ที่จำเลยที่ 1 จะต้องทำการแก้ไขให้ นอกจากนี้ตามสัญญา ข้อ 5 โจทก์ยังมีสิทธิที่จะดัดแปลงแก้ไขหนังสือแบบเรียนด้วยตนเอง และสามารถพิมพ์จำหน่ายในนามของจำเลยที่ 1 ด้วย จึงเป็นที่เห็นได้ว่าตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2 นี้จำเลยที่ 1 ได้ขายลิขสิทธิ์หนังสือวิชาประวัติศาสตร์ ชั้น ม.ศ.1 ม.ศ. 2 และ ม.ศ. 3 ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้แต่ง เรียบเรียงหรือประพันธ์ขึ้นให้แก่โจทก์โดยเด็ดขาด มิได้มีข้อแม้หรือเงื่อนไขใด ๆ หากจะมีข้อแม้หรือเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะมีผลให้สัญญาสิ้นความผูกพันกัน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีการศึกษาและตำแหน่งหน้าที่ถึงคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒก็น่าจะเป็นฝ่ายขอให้กำหนดไว้ในสัญญาด้วย ดังนั้นถึงแม้ภายหลังทำสัญญาเอกสารหมาย จ.2 กระทรวงศึกษาธิการจะได้มีคำสั่งให้ใช้หลักสูตรชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นหมวดวิชาสังคมศึกษา พ.ศ. 2520 ก็ไม่มีผลทำให้สัญญาเอกสารหมาย จ.2 สิ้นความผูกพันระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำการเขียนแบบเรียนประวัติศาสตร์ ชั้น ม.ศ.1 ม.ศ. 2 และม.ศ. 3 ขึ้นใหม่ในภายหลัง แม้จะอ้างว่าเป็นการเขียนขึ้นตามหลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2520 และเขียนร่วมกับผู้อื่นด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็เป็นการผิดสัญญาเอกสารหมาย ข.2 ข้อ 3 และจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามสัญญาข้อ 8 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 แพ้คดี ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน