แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องอ้างว่ามารดาโจทก์มีสินเดิมและสินสมรสกับบิดาโจทก์ มารดาโจทก์ถึงแก่กรรม จึงตกทอดเป็นมรดกได้แก่โจทก์กับน้องและบิดาต่อมาบิดาโจทก์ถึงแก่กรรมอีก จำเลยเป็นภรรยาน้อยบิดาโจทก์ ไม่มีสินเดิมได้นำสำเนาพินัยกรรมปลอมไปอ้างขอรับมรดกของบิดาโจทก์ โจทก์จึงขอให้ศาลทำลายพินัยกรรมปลอมนั้น ถ้าเป็นพินัยกรรมจริง บิดาโจทก์ก็ไม่มีอำนาจที่จะเอาส่วนสินเดิมและสินสมรสของมารดกโจทก์ไปทำได้ จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยเอาทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องขายทอดตลาดแบ่งกัน
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพินัยกรรมที่ได้เถียงเป็นพินัยกรรมจริงแล้ว และข้อที่โจทก์ว่าบิดาโจทก์เอาสินบริคณห์ระหว่างมารดาโจทก์กับบิดาโจทก์มาทำพินัยกรรมยกให้จำเลยเป็นการไม่ชอบนั้น ก็ได้ความว่าบิดาโจทก์แต่งงานอยู่กินกับจำเลยมาร่วม 20 ปีเศษ เกิดบุตรด้วยกันหลายคน ส่วนมารดาโจทก์อยู่เมืองจีน มิได้มาอยู่ร่วมด้วยเลย และโจทก์สิบไม่ได้ว่าบิดาโจทก์ได้นำทรัพย์ของมารดาโจทก์มาเป็นทุน อันเป็นทางให้เกิดสมรสอย่างใด ไม่มีเหตุพอที่จะให้รับฟังได้ ว่าทรัพย์สิ่งใดบ้างเป็นส่วนของมารดาโจทก์ ฉะนั้นเมื่อบิดาโจทก์ได้ทำพินัยกรรมให้จำเลย ก็ไม่มีทางจะแบ่งให้โจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องกล่าวว่า โจทก์กับนายโก้ยน้องชายเป็นบุตรนางจุ๋ยกู่ภริยาหลวงของนายยู่เล้ง นางเง็กลั้งจำเลยเป็นภริยาน้อยนายยู่เล็ง มีบุตรกับนายยู่เล้ง ๕ คน นายจุ๋ยกู่ตาย ๙ ปีมาแล้วมีมรดกก่อนเป็นสินเดิมของนายจุ๋ยกู่ และสินสมรสระหว่างนายยู่เล้งกับนางจุ๋ยกู่ ซึ่งเป็นส่วนของนางจุ๋ยกู่ ตกทอดได้แก่โจทก์ นายโก้ย และนายยู่เล้ง คนละ ๓๔๒ บาท ๗๗ สตางค์ แต่ยังหาได้แบ่งไม่ ครั้นวันที่ ๔ เมษายน ๒๔๙๒ นายยู่เล้งตายลงอีกนายเง็กลั้งอ้างว่า นายยู่เล้งทำพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติให้นางเง็กลั้ง และบุตรทั้งหมด ซึ่งโจทก์ว่าเป็นพินัยกรรมปลอม จึงขอให้ทำลายพินัยกรรมฉะบับที่กล่าวเสียหรือเป็นพินัยกรรมจริง นายยู่เล้งก็ไม่มีอำนาจที่จะเอาส่วนสินเดิมและสินสมรสของจุ๋ยกู่ไปทำได้ จึงขอให้จำเลยเอาทรัพย์าตามบัญชีท้ายฟ้องมาขายทอดตลาดแบ่งให้โจทก์กับนายโก้ย
จำเลยต่อสู้หลายประการและพินัยกรรมที่ผู้ตายทำ เป็นพินัยกรรมที่ถูกต้อง ฯลฯ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า พินัยกรรมถูกต้อง จึงพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกา คงวินิจฉัยว่า พินัยกรรมที่ได้เถียงกันเป็นพินัยกรรมที่ถูกต้อง
ส่วนข้อที่ว่า นายยู่เล้งเอาสินบริคณห์ระหว่างนายยู่เล้งกับนางจุ๋ยกู่มาทำพินัยกรรมยกให้จำเลย เป็นการไม่ชอบนั้น ก็ได้ความว่านายยู่เล้งแต่งงานอยู่กินกับจำเลยมาร่วม ๒๐ ปีเศษ เกิดบุตรด้วยกันหลายคน ส่วนนางจุ๋ยกู่มารดาโจทก์อยู่เมืองจีนมิได้มาอยู่ร่วมกันเลย และโจทก์สืบมิได้ว่านายยู่เล้งได้นำทรัพย์ของมารดาโจทก์มาเป็นทุน อันเป็นทางให้เกิดสมรสอย่างใด ข้อที่พยานโจทก์บาง++ว่านายยู่เล้งเอาทองมาจากเมืองจีน ก็เป็นแต่คำบอกเล่าและก็ไม่แน่ว่าเป็นของใคร คำพยานโจทก์เลื่อนลอยมากไม่มีเหตุพอที่จะให้รับฟังได้ว่า ทรัพย์สิ่งใดบ้างเป็นส่วนของนางจุ๋ยกู่ ฉะนั้นจึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลล่าง เมื่อนายยู่เล้งทำพินัยกรรมไว้เช่นนี้ ก็ไม่มีทางที่จะแบ่งให้โจทก์ได้
จึงพิพากษายืน