คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3589/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยได้ถูกจับกุมและควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำจังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2529 จนถึงวันที่ 12 มีนาคม 2529 อันเป็นวันที่จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานเป็นเวลานานเกือบ 2 เดือน โดยละเลยไม่นำพาที่จะแจ้งให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างทราบ เพื่อที่จำเลยจะได้ดำเนินการหาคนมาปฏิบัติหน้าที่แทน ทั้งที่โจทก์มีโอกาสที่จะแจ้งให้จำเลยทราบถึงเหตุที่ไม่สามารถมาปฏิบัติงานได้ พฤติการณ์ของโจทก์ถือได้ว่า กระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ตามความหมายของ มาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาได้เลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ขาดงานไปเป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง ความจริงโจทก์ไม่ไปทำงานเพราะถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวตลอดมา จึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าการที่โจทก์ต้องออกจากงานเพราะขาดงานและละทิ้งหน้าที่ติดต่อกันเกินกว่า ๑๕ วัน โดยไม่มีเหตุผลหรือมีใบลาตามระเบียบเป็นการประพฤติผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลย การที่โจทก์มีความจำเป็นซึ่งไม่อาจมาทำงานตามปกติได้ ต้องแจ้งเหตุให้จำเลยทราบ เมื่อมิได้แจ้ง จึงเป็นการจงใจละทิ้งหน้าที่และขาดงานโดยเจตนา จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินใด ๆ แก่โจทก์
วันนัดพิจารณา จำเลยแถลงรับว่าการที่โจทก์ขาดงาน เป็นเพราะถูกจับกุมและควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกลางสมุทรปราการตั้งแต่วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๑๘ จนถึงวันฟ้อง ศาลแรงงานกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงงดสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ไม่ไปทำงานตามปกติเพราะถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวนั้น ไม่ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗(๔) ดังนั้นการที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานจึงเป็นการให้ออกโดยโจทก์ไม่มีความผิด โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พิพากษาให้จ่ายเงินดังกล่าว
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยได้ต่อสู้ด้วยว่าโจทก์กระทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลย ประกาศของกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗(๓) และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕๘๓ อีกด้วย แต่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเฉพาะข้อกฎหมาย ตามข้อ ๔๗(๔) แห่ง ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เพียงประเด็นเดียว พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยมีระเบียบข้อบังคับหรือไม่ ระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดไว้อย่างไร และในระหว่างที่โจทก์ถูกควบคุมตัว โจทก์สามารถติดต่อหรือแจ้งให้จำเลยทราบถึงเหตุที่ไม่สามารถมาทำงานตามปกติได้หรือไม่ แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายในประเด็นที่ยังขาดให้ครบถ้วน และพิพากษาใหม่
ในระหว่างที่ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาตามคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยยื่นระเบียบข้อบังคับของจำเลย ซึ่งโจทก์รับว่ามีระเบียบข้อบังคับดังกล่าวจริง และระหว่างที่โจทก์ขาดงานเพราะถูกจับกุมคุมขังอยู่นั้น โจทก์อาจแจ้ง หรือติดต่อแจ้งให้จำเลยทราบได้ แต่ก็มิได้แจ้งแก่จำเลย
ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยข้อกฎหมายตามประเด็นที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยใหม่ได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้ววินิจฉัยว่าตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยไม่มีระบุไว้ว่า หากพนักงานของจำเลยมีความจำเป็นที่ไม่อาจมาทำงานตามปกติต้องแจ้งเหตุให้จำเลยทราบ มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นการจงใจละทิ้งหน้าที่ หรือเป็นการขาดงานโดยไม่มีเหตุอันควร กรณีของโจทก์ไม่ต้องด้วยเหตุที่จำเลยอาจปฏิเสธไม่จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ตามที่ระบุไว้ในระเบียบข้อบังคับของจำเลย ทั้งไม่ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ ๔๗ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า สำหรับปัญหาเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น จำเลยอุทธรณ์ว่า หากการกระทำของลูกจ้างเข้ากรณีใดกรณีหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ นายจ้างมีสิทธิที่จะไล่ออกทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อกรณีของโจทก์ต้องด้วยบทบัญญัติของมาตราดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์นั้น พิเคราะห์แล้วได้ความว่าโจทก์ถูกจับกุมและควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำจังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๒๘ ตลอดมาจนถึงวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๒๙ ซึ่งเป็นวันที่จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานเป็นเวลานานเกือบ ๒ เดือน โจทก์ละเลยไม่นำพาที่จะแจ้งให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างทราบเพื่อที่จะได้ดำเนินการหาคนมาปฏิบัติหน้าที่แทน ทั้งที่มีโอกาสจะแจ้งให้จำเลยทราบถึงเหตุที่ไม่สามารถมาปฏิบัติงานได้พฤติการณ์ของโจทก์ถือได้ว่ากระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ตามความหมายของ มาตรา ๕๘๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แล้ว จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share