คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3585/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108,110และพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25,27,59 เป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง กรุงเทพมหานครและสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบัวทองซึ่งเป็นท้องที่ที่จำเลยที่ 2 ถูกจับจึงมีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคหนึ่ง(3) และวรรคสาม(ก)โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 120
โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ต้องถือว่าเป็นการอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งมีโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นผู้เสียหายเท่านั้น เพราะโจทก์ร่วมทั้งสองมิได้เป็นผู้เสียหายในความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522
จำเลยที่ 2 มีอาหารปลอมไว้เพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยที่อาหารดังกล่าวมีเครื่องหมายการค้าปลอมอยู่ด้วยก็ด้วยเจตนาเดียวที่ประสงค์จะจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารปลอม เมื่ออาหารปลอมนั้นมีเครื่องหมายการค้าปลอมและกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้ จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายสถิตย์ กาญจนวิสิษฐผล ผู้เสียหายประกอบอาชีพผลิตและขายสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งซอสหอยนางรมซึ่งเป็นอาหารตามพระราชบัญญัติอาหารพ.ศ. 2522 ภายใต้เครื่องหมายการค้าว่า รูปเครื่องหมายการค้าตราแม่ครัว โดยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในสินค้าจำพวก 42 (เดิม) อันได้แก่ ซอสหอยนางรมต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาในนามของนายสถิตย์และจำหน่ายสินค้าในนามของบริษัทจิ้วฮวด จำกัด เมื่อระหว่างเดือนมิถุนายน 2541 ถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 จำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันผลิตอาหารปลอมโดยการร่วมกันทำ ผสม ปรุงแต่ง และแบ่งบรรจุซึ่งซอสหอยนางรมอันเป็นอาหารตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 โดยร่วมกันผลิตขึ้นซึ่งซอสหอยนางรมตราแม่ครัวเทียมซอสหอยนางรมตราแม่ครัวที่แท้จริงของนายสถิตย์กาญจนวิสิษฐผลผู้เสียหาย และนำเอาซอสหอยนางรมที่จำเลยทั้งสี่กับพวกได้ร่วมกันผลิตขึ้นเองบรรจุใส่ขวดซึ่งมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อเข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ลักษณะพิเศษ และสถานที่ผลิตอาหารซอสหอยนางรมเทียมว่าเป็นซอสหอยนางรม ตราแม่ครัว ซึ่งผลิตโดยบริษัทจิ้วฮวด จำกัด โดยมีขั้นตอนและกระบวนการผลิตที่ได้ผ่านการควบคุมตรวจสอบและรับรองแล้วว่าเป็นซอสหอยนางรมที่มีคุณภาพและมาตรฐานของอาหารตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสี่กับพวกรู้อยู่แล้วว่าไม่เป็นความจริง แต่ได้กระทำไปเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิด นอกจากนี้จำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้าซอสหอยนางรมซึ่งเป็นอาหารปลอมดังกล่าวและมีเครื่องหมายการค้าปลอมซึ่งมีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสี่รู้อยู่แล้วว่าเป็นสินค้าที่มีการปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายเหตุเกิดที่แขวงบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร และตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108, 110, 115 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522มาตรา 25, 27, 59

ระหว่างพิจารณา บริษัทจิ้วฮวด จำกัด โดยนายสถิตย์ กาญจนวิสิษฐผล กรรมการผู้มีอำนาจ และนายสถิตย์ กาญจนวิสิษฐผล ในฐานะส่วนตัว ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตโดยเรียกบริษัทจิ้วฮวด จำกัด ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 นายสถิตย์ กาญจนวิสิษฐผล ว่าโจทก์ร่วมที่ 2

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยที่ 2มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(2), 27, 59 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110(1), 108 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารปลอมซึ่งเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ปรับ 100,000 บาท เพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 2 กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้ยกฟ้อง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ร่วมที่ 1 และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ผลิตซอสหอยนางรมตราแม่ครัวภายใต้เครื่องหมายการค้า “ซอสหอยนางรมตราแม่ครัว” ซึ่งมีโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเจ้าของผู้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ก่อนที่จะมีการดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง โจทก์ร่วมที่ 2 พบซอสหอยนางรมปลอมภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ร้านประเสริฐชัยซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 97 ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร จำนวน 181 ลัง ได้มีการสอบสวนขยายผลทราบว่าซอสหอยนางรมปลอมดังกล่าวนั้นได้ซื้อมาจากร้านเทียมเจริญซุปเปอร์มาร์เก็ตจึงได้มีการไปค้นโกดังเก็บสินค้าของร้านดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ที่ตรอกโรงน้ำแข็ง ตำบลโสนลอยอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พบว่ามีซอสหอยนางรมตราแม่ครัวปลอมจำนวน 227 ลัง ซึ่งจำเลยที่ 2 แจ้งว่าได้ซื้อมาจากนายธงชัย ร้านเทียมเจริญซุปเปอร์มาร์เก็ตจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในนามของบริษัทจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการ จำเลยที่ 4เป็นน้องของจำเลยที่ 2 และมีหุ้นอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 1 ด้วยโจทก์ร่วมทั้งสองแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีทั้งกับนายธงชัย แซ่ตั้ง นายวิษณุ แทนคุณ ผู้ที่นำซอสหอยนางรมตราแม่ครัวปลอมมาเสนอจำหน่าย จำหน่าย และผู้ที่รับไว้จำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายคือจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 4 ในคดีนี้ ในส่วนคดีของนายธงชัยและนายวิษณุได้ให้การรับสารภาพ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษายืน คดีถึงที่สุดไปแล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธ จึงได้แยกมาฟ้องเป็นคดีนี้

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในประการแรกมีว่า พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบัวทองมีอำนาจสอบสวนคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ความผิดที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้นเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง กรุงเทพมหานคร และสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอ บางบัวทองซึ่งเป็นท้องที่ที่จำเลยที่ 2 ถูกจับจึงมีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคหนึ่ง(3) และวรรคสาม(ก)โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2ในประการที่สองมีว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ โจทก์มีนายชาญชัย อิ่มสมบูรณ์ นายสมนึก แก้วปู่วัด นายวินัย หมวดสันเทียะ เป็นพยานเบิกความสอดคล้องตรงกันว่าซอสหอยนางรมตราแม่ครัวปลอมสามารถซื้อได้จากร้านเทียมเจริญซุปเปอร์มาร์เก็ต จำเลยที่ 2 ก็เบิกความเจือสมกับคำพยานโจทก์โดยยอมรับว่า เจ้าพนักงานตำรวจพบซอสหอยนางรมตราแม่ครัวปลอมเก็บอยู่ในโกดังเก็บสินค้าของร้านเทียมเจริญซุปเปอร์มาร์เก็ตปัญหาว่าจำเลยที่ 2 รู้หรือไม่ว่าซอสหอยนางรมตราแม่ครัวที่รับมาจำหน่ายดังกล่าวนั้นเป็นของปลอมหรือไม่ โจทก์มีนายชาญชัย อิ่มสมบูรณ์ เป็นพยานเบิกความว่า ภายในโกดังเก็บสินค้านอกจากจะพบซอสหอยนางรมตราแม่ครัวปลอมของกลางแล้วยังพบสินค้าอื่นที่หมดอายุแล้ว เช่น นม ส่วนสินค้าอื่นที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่ปรากฏอยู่ในโกดัง นอกจากนี้ยังระบุว่าได้ตรวจค้นสินค้าในร้านเทียมเจริญซุปเปอร์มาร์เก็ตแล้วปรากฏว่า ซอสหอยนางรมตราแม่ครัวที่วางในร้านเป็นของจริงไม่มีของปลอมปนมาเลย และมีนางสมนึก แก้วปู่วัด เบิกความสนับสนุนว่า ทุกครั้งที่ติดต่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับร้านเทียมเจริญซุปเปอร์มาร์เก็ตจะกระทำที่โกดังเก็บของของร้านเทียมเจริญซุปเปอร์มาร์เก็ต และนายชาญชัยยังเบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมว่าในทันทีที่โจทก์ร่วมทราบว่ามีของปลอมระบาดในท้องตลาดในเดือนมิถุนายน 2541 ทางโจทก์ร่วมได้ให้พนักงานการตลาดแจ้งให้แก่ลูกค้าทราบโดยนายสุชาติซึ่งเป็นพนักงานขายของบริษัทโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นผู้แจ้งให้แก่จำเลยที่ 2 ในนามของจำเลยที่ 1 ทราบ และได้ความจากนายสถิตย์ กาญจนวิสิษฐผล โจทก์ร่วมที่ 2 ตอบทนายโจทก์ร่วมที่ 2 ถามติงว่า ตามปกติแล้ว ร้านค้าจะต้องรู้ว่าสินค้าใดแท้หรือปลอมเพราะจะต้องซื้อสินค้าจากพนักงานขายของบริษัทโจทก์ร่วมที่ 1 และมีราคาต้นทุนที่แตกต่างกัน ทั้งยังตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า จำเลยเป็นลูกค้าโจทก์ร่วมนานหลายปีแล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เบิกความในทำนองเดียวกันว่าไม่ทราบว่าซอสหอยนางรมตราแม่ครัวที่รับซื้อมาจำหน่ายเป็นของปลอม เห็นว่า ลักษณะวิธีการส่งสินค้าซอสหอยนางรมตราแม่ครัวให้แก่ลูกค้าตามที่ได้ความจากนายสมนึก แก้วปู่วัด ปรากฏว่าในทางปฏิบัติจะเป็นการสั่งซื้อล่วงหน้าทางโทรศัพท์แล้วให้นายสมนึกมารับของที่โกดังเก็บสินค้า หาใช่นำสินค้าซอสหอยนางรมตราแม่ครัวของจริงที่วางอยู่ในร้านเทียมเจริญซุปเปอร์มาร์เก็ตมาลงให้ไม่ ฉะนั้น เมื่อได้ความจากนายชาญชัยว่าตามสภาพโกดังไม่มีสภาพที่จะเก็บสินค้าดังปรากฏข้อเท็จจริงว่า นอกจากมีซอสหอยนางรมตราแม่ครัวปลอมของกลางเก็บไว้แล้วไม่ปรากฏว่ามีสินค้าที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์เก็บไว้เลยโดยมีสินค้าที่หมดอายุ เช่น นม เท่านั้น ที่มีปนอยู่ในโกดังจึงเป็นข้อพิรุธว่าเหตุใดจำเลยที่ 2 จึงต้องแยกซอสหอยนางรมตราแม่ครัวปลอมไปเก็บในสถานที่เช่นนั้น ข้อที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าซอสหอยนางรมของกลางเป็นสินค้าที่มีปัญหาจึงต้องไปเก็บไว้ที่นั้นเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งยังขัดกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากนายสมนึก แก้วปู่วัด ที่เบิกความว่า จำเลยที่ 4 ไม่ได้นำสินค้าซอสหอยนางรมตราแม่ครัวจากร้านเทียมเจริญซุปเปอร์มาร์เก็ตไปให้ นอกจากนี้ราคาสินค้าที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าซื้อจากนายธงชัยมีราคาถูกกว่าราคาของบริษัทผู้ผลิตก็ปรากฏว่าราคาก็ไม่แตกต่างกันมากนัก ประกอบกับบริษัทโจทก์ร่วมที่ 1 ยืนยันว่าได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ในนามของจำเลยที่ 1 ทราบแล้วว่ามีซอสหอยนางรมตราแม่ครัวของปลอมในท้องตลาด ดังนี้ จำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในวงการค้าทำการค้ารับซื้อซอสหอยนางรมตราแม่ครัวจากโจทก์ร่วมที่ 1 มาจำหน่ายเป็นเวลานานพอสมควรย่อมรู้ว่าสินค้าของโจทก์ร่วมสามารถจำหน่ายได้ดีในท้องตลาด ยิ่งพึงต้องใช้ความระมัดระวังไม่ซื้อสินค้าจากผู้ที่ไม่มีหลักฐานน่าเชื่อถือหรืออยู่นอกวงการค้านายธงชัยเป็นใครมาจากไหนเข้ามาทำธุรกิจค้าส่งซอสหอยนางรมตราแม่ครัวของบริษัทโจทก์ร่วมที่ 1 ได้อย่างไร จำเลยที่ 2 ก็ไม่ทราบพฤติการณ์ในการรับซื้อและจำหน่ายซอสหอยนางรมตราแม่ครัวระหว่างนายธงชัยนายสมนึก แก้วปู่วัด กับจำเลยที่ 2 ดังที่กล่าวมาหาใช่เป็นการทำการค้าโดยสุจริตปกติธรรมดาของพ่อค้าโดยทั่วไปไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 ยอมรับว่าโกดังเก็บสินค้าที่พบซอสหอยนางรมตราแม่ครัวปลอมนั้นเป็นที่เก็บสินค้าที่มีปัญหาดังนี้แล้วเหตุใดเมื่อนายสมนึก แก้วปู่วัด สั่งสินค้าซอสหอยนางรมตราแม่ครัวจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่นำสินค้าซอสหอยนางรมตราแม่ครัวที่วางอยู่ในร้านเทียมเจริญซุปเปอร์มาร์เก็ตซึ่งเป็นของจริงไปให้ แต่กลับให้นายสมนึกมารับสินค้าในโกดังดังกล่าวซึ่งเป็นของปลอม พฤติการณ์แห่งคดีดังวินิจฉัยมาฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 หรือไม่นั้น เห็นสมควรกล่าวเสียก่อนว่าการที่โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีได้นั้นต้องถือว่าเป็นการอนุญาตให้โจทก์ร่วมที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งมีโจทก์ร่วมที่ 1 และโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้เสียหายเท่านั้นเพราะโจทก์ร่วมทั้งสองมิได้เป็นผู้เสียหายในความผิดพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ โจทก์ร่วมที่ 1 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับอุทธรณ์ส่วนนี้มาก็เป็นการรับอุทธรณ์โดยไม่ชอบจึงไม่รับวินิจฉัยให้….

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ข้อต่อไปมีว่า การกระทำความผิดฐานจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าอันเป็นอาหารปลอม กับความผิดฐานจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดกรรมเดียวกันหรือไม่ เห็นว่า เมื่อความผิดในข้อหาผลิตอาหารปลอมเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแล้วว่าข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ผลิตอาหารปลอม ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 มีอาหารปลอมไว้เพื่อจำหน่ายและจำหน่าย โดยที่อาหารดังกล่าวนั้นมีเครื่องหมายการค้าปลอมอยู่ด้วยก็ด้วยเจตนาเดียวว่าประสงค์จำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารปลอม เมื่ออาหารปลอมนั้นมีเครื่องหมายการค้าปลอมอยู่ด้วยและกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้ จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดกรรมเดียวนั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110(1) ประกอบมาตรา 108 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท และให้จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 2 ปี ปรับ 100,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดีโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 และที่ 4 ไม่ชำระค่าปรับสำหรับจำเลยที่ 1 ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 4 ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share