คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 358/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จัดทำคำวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องเรียนของโจทก์เสร็จสิ้นที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งตั้งอยู่ที่แขวงรองเมือง เขตรองเมือง กรุงเทพมหานคร ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสตูลสืบสวนสอบสวนตามอำนาจหน้าที่และส่งเรื่องพร้อมความเห็นอันเป็นข้อเสนอแนะไปยังจำเลยทั้งห้าก็ตาม แต่คำวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ดังกล่าวจัดส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสตูลเพื่อแจ้งให้โจทก์ทราบ ทั้งคำวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ยังมีผลต่อการสมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีฉลุงในท้องที่จังหวัดสตูล ตามที่โจทก์ร้องเรียนอีกด้วย ถือว่า ความผิดได้เกิดขึ้นในจังหวัดสตูลอันเป็นเขตอำนาจของศาลชั้นต้นด้วย โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ต่อศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 22 และมาตรา 24 ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 10, 19, 22, 24, 42 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 115, 135 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 157 นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1064/2547 ของศาลจังหวัดปราจีนบุรี คดีอาญาหมายเลขดำที่ 3659/2548 ของศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา คดีอาญาหมายเลขดำที่ 4280/2548 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1242/2548 ของศาลจังหวัดชัยนาท คดีอาญาหมายเลขดำที่ 934/2548 ของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1464/2549 ของศาลอาญา นับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1242/2548 ของศาลจังหวัดชัยนาท คดีอาญาหมายเลขดำที่ 934/2548 ของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1464/2549 ของศาลอาญา และนับโทษจำเลยที่ 5 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1242/2548 ของศาลจังหวัดชัยนาท คดีอาญาหมายเลขดำที่ 934/2548 ของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1464/2549 ของศาลอาญา
ระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 แล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาอื่นที่ยังมิได้วินิจฉัย แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ฎีกาว่า จำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดทำคำวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องเรียนของโจทก์ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แขวงรองเมือง เขตรองเมือง กรุงเทพมหานคร ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสตูลสืบสวน สอบสวนตามอำนาจหน้าที่และส่งเรื่องพร้อมความเห็นอันเป็นข้อเสนอแนะไปยังจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นการดำเนินการเสร็จสิ้นสมบูรณ์โดยไม่ได้เกี่ยวพันกับการวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยทั้งห้าแล้วเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจัดส่งคำวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสตูล ข้อกล่าวหาตามฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เกี่ยวพันกับสถานที่สืบสวน สอบสวน โดยเหตุเกิดและผลจากเหตุนั้นเสร็จสิ้นสมบูรณ์ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แขวงรองเมือง เขตรองเมือง กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญากรุงเทพใต้ และจำเลยทั้งห้าก็มีภูมิลำเนาในเขตศาลอาญากรุงเทพใต้ด้วยนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จัดทำคำวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องเรียนของโจทก์เสร็จสิ้นที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งตั้งอยู่ที่แขวงรองเมือง เขตรองเมือง กรุงเทพมหานคร ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสตูลสืบสวนสอบสวนตามอำนาจหน้าที่และส่งเรื่องพร้อมความเห็นอันเป็นข้อเสนอแนะไปยังจำเลยทั้งห้าก็ตาม แต่คำวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ดังกล่าวจัดส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสตูลเพื่อแจ้งให้โจทก์ทราบ ทั้งคำวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ยังมีผลต่อการสมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีฉลุงในท้องที่จังหวัดสตูล ตามที่โจทก์ร้องเรียนอีกด้วย ถือว่าความผิดได้เกิดขึ้นในจังหวัดสตูลอันเป็นเขตอำนาจของศาลชั้นต้นด้วย โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ต่อศาลชั้นต้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 และมาตรา 24 ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share