คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3577/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาที่จำเลยฎีกาขึ้นมาว่า ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกาโดยคิดหักวันที่จำเลยถูกคุมขังมาแล้วให้ไม่ถูกต้องนั้นเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี เมื่อมิใช่เป็นการฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่พิพากษาว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ว่าไม่ถูกต้องแต่ประการใดจึงเป็นเรื่องที่จำเลยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาล หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นหักวันที่ถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษาไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 แล้วก็ชอบที่จะยื่นคำร้องคัดค้านโดยขอให้ศาลชั้นต้นแก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นประการใดแล้วจำเลยจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อมาได้เป็นลำดับ การที่จำเลยยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 268, 341, 83, 91 ริบของกลาง และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน จำนวน 49,145 บาทแก่ผู้เสียหาย กับนับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยในคดีตามที่ระบุมาในฟ้อง
จำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 ประกอบด้วย 268, 341, 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้จึงให้ลงโทษฐานใช้เป็นจำนวน 3 กระทง กระทงละ 2 ปี รวมโทษจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี ให้จำเลยชดใช้หรือคืนทรัพย์สินจำนวน 49,145 บาท แก่ผู้เสียหาย และให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4344/2536 ของศาลอาญา และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 43/2536 ของศาลชั้นต้นด้วย ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ศาลชั้นต้นสั่งรับมาเป็นข้อกฎหมายว่า ศาลล่างทั้งสองคิดหักวันที่ถูกคุมขังก่อนศาลมีคำพิพากษาไม่ถูกต้อง โดยจำเลยถูกคุมขังทั้งสิ้น 667 วันขอให้ศาลฎีกาคิดหักวันที่ถูกคุมขังให้ถูกต้องนั้น เห็นว่าคดีนี้จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวเมื่อวันที่ 24 มีนาคม2536 พนักงานสอบสวนนำตัวจำเลยมาขอฝากขังต่อศาลเมื่อวันที่30 มีนาคม 2536 ในวันเดียวกันจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน จำเลยจึงถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนรวม 6 วัน ต่อมาวันที่ 11 พฤษภาคม 2536 โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาล แต่จำเลยหลบหนีศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับจำเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2538จึงได้ตัวจำเลยมาพิจารณาคดี และศาลชั้นต้นออกหมายขังจำเลยระหว่างพิจารณาในวันดังกล่าว วันที่ 19 พฤษภาคม 2540ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้ ดังนี้จำเลยจึงถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นเป็นเวลา 654 วัน รวมเป็นวันที่จำเลยถูกคุมขังก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาทั้งสิ้น 660 วัน ที่ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกาโดยคิดหักวันที่จำเลยถูกคุมขังมาแล้วให้เพียง 652 วัน จึงไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตามปัญหาตามฎีกาจำเลยดังกล่าวนี้เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี ซึ่งมิใช่เป็นการฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองว่าพิพากษาคดีไม่ถูกต้องแต่ประการใดจึงเป็นเรื่องที่จำเลยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาลซึ่งหากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นหักวันที่ถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษาไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 แล้ว ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องคัดค้านโดยขอให้ศาลชั้นต้นแก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นประการใดแล้ว จำเลยจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้เป็นลำดับต่อมา การที่จำเลยยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share