คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3570/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การบรรยายคำฟ้องในคดีแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 กำหนดแต่เพียงว่าจะต้องแสดงให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเท่านั้น หาต้องบรรยายถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียด เหมือนกับฟ้องในคดีอาญาไม่ การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายท้ายควบคุมเรือด่วนเจ้าพระยาและเรือหางยาว ได้กระทำการอันเป็นความประมาทเลินเล่อ ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเท่าที่วิญญูชนจะพึงใช้ ทำให้เรือด่วนเจ้าพระยาชนกับเรือหางยาวเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายเฟื้อน้องชายร่วมบิดามารดาซึ่งเสียชีวิตแล้วทั้งสองคน จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ทำหน้าที่เป็นนายท้ายเรือด่วนเจ้าพระยาของจำเลยที่ ๒ อันเป็นการปฏิบัติงานตามทางที่จ้างจำเลยที่ ๓ เป็นนายท้ายผู้ควบคุมเรือหางยาวของจำเลยที่ ๔ ซึ่งนายเฟื้อเป็นผู้โดยสาร ในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างจำเลยที่ ๔ ทั้งนี้โดยจำเลยที่ ๓ เป็นบุตรจำเลยที่ ๔ ด้วยจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ กระทำการอันเป็นความประมาทเลินเล่อไม่ใช้ความระมัดระวังเท่าที่วิญญูชนพึงใช้ทำให้เรือด่วนเจ้าพระยาและเรือหางยาวชนกันในแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ท่าเตียน เป็นเหตุให้นายเฟื้อถึงแก่ความตายการกระทำของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ ทำให้โจทก์ต้องใช้จ่ายในการติดตามศพและค่าทำศพตลอดจนทรัพย์สินที่ติดตัวผู้ตายต้องสูญหายคิดเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๐๓,๓๕๐ บาท ขอให้จำเลยร่วมกันชำระเงิน ๑๐๓,๓๕๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ ๑ ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดี
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ จริงแต่จำเลยที่ ๑ มิได้ประมาท เหตุที่เรือชนกันเพราะจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมเรือหางยาวขับเรือด้วยความเร็วสูงตัดหน้าเรือด่วนเจ้าพระยาในระยะกระชั้นชิดสุดวิสัยที่จำเลยที่ ๑ จะหลีกเลี่ยงหรือป้องกันแก้ไขได้หากเกิดความเสียหาย จำเลยที่ ๓ จะต้องเป็นผู้รับผิด นายเฟื้อมิใช่ผู้โดยสารมาในเรือหางยาวและมิได้ถึงแก่กรรมเพราะเรือชนกันค่าเสียหายที่ฟ้องสูงเกินสมควรแก่ฐานานุรูป โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะดำเนินคดีนี้ ทั้งมิได้ฟ้องในฐานะทายาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ให้การและเพิ่มเติมคำให้การว่า จำเลยที่ ๓ เป็นบุตรของจำเลยที่ ๔ วันเกิดเหตุจำเลยที่ ๓ เช่าเรือหางยาวของจำเลยที่ ๔ รับส่งคนโดยสารจำเลยที่ ๓ มิใช่ตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ ๔ วันเกิดเหตุจำเลยที่ ๓ ขับเรือหางยาวออกจากท่าจอดเรือที่ตลาดท่าเตียนขณะเรือหางยาวแล่นอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา จำเลยที่ ๑ ขับเรือด่วนเจ้าพระยาด้วยความเร็วสูงมากจนหัวเรือส่ายไปมาแล่นเข้ามาในทางเดินเรือของเรือหางยาว และพุ่งเข้าชนกลางลำเรือหางยาวด้านขวาอย่างแรงจนกราบขวาแตกออกจากตัวเรือและเรือหางยาวจมทันที หากนายเฟื้อโดยสารมากับเรือหางยาวและจมน้ำตาย จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ทำให้ตายจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จะต้องรับผิดชอบขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ร่วมกันชำระเงิน ๗๙,๘๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๔
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นเรื่องต่างคนต่างทำละเมิด มิใช่ร่วมกันทำละเมิดจำเลที่ ๑ ที่ ๓ มีส่วนประมาทเท่ากัน และเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ ๓ ซึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วย พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ชำระเงินแก่โจทก์คนละ ๓๙,๙๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ว่า การบรรยายคำฟ้องในคดีแพ่งนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ กำหนดแต่เพียงว่าจะต้องแสดงให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเท่านั้นหาต้องบรรยายถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเหมือนกับฟ้องในคดีอาญาไม่ดังนั้นคำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายว่า นายชุบ (จำเลยที่ ๑) และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นนายท้ายควบคุมเรือด่วนเจ้าพระยาและเรือหางยาวได้กระทำการอันเป็นความประมาทเลินเล่อไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเท่าที่วิญญูชนจะพึงใช้ ทำให้เรือด่วนเจ้าพระยาชนกับเรือหางยาวเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ แล้ว ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
พิพากษายืน

Share